กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จับมือ ซีพีเอ ยกระดับมาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่ผลิตสัตว์น้ำสู่ระดับสากล 

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนบริหารจัดการแรงงานในห่วงโซ่การผลิตกุ้งตามมาตรฐานแรงงานไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานสู่มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าและผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าโลก 

    นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อก้าวไปอย่างยั่งยืน” การบริหารแรงงานของทุกสถานประกอบกิจการในธุรกิจกุ้งครบวงจร เขตประเทศไทย ได้รับรองมาตรฐานแรงงานไทย มรท.๘๐๐๑ หรือ Thai Labour Standard: TLS 8001  โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย และนางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือซีพีและซีพีเอฟ และ นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ร่วมด้วย 

    ด้านนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตระหนักและให้ความสำคัญกับมนุษยชน การคุ้มครองแรงงานของไทย มีนโยบายสนับสนุนสถานประกอบกิจการของไทยยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานสู่สากล การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และซีพีเอฟถือเป็นองค์กรชั้นนำดำเนินธุรกิจกุ้งแบบครบวงจรในประเทศไทย ในการนำมาตรฐานแรงงาน  เป็นการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยพัฒนาการบริหารจัดการด้านแรงงานสอดคล้องกับมาตรฐานในระดับประเทศและสากล เพื่อให้แรงงานในห่วงโซ่การผลิตกุ้งไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น 

  ซีพีเอฟ นับว่าเป็นองค์กรชั้นนำของไทย ที่สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ได้มาตรฐานอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด ความร่วมมือครั้งนี้มีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อแรงงาน ตลอดจนเป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจไทยเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน สินค้าบริการของไทยเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก” นายสุเทพกล่าว 

    ส่วนนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงาน สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ มีความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงานของธุรกิจ โดยจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทย มรท.๘๐๐๑ เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน จึงมุ่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงาน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการทุกประเภท ทุกขนาด สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ด้านการจ้างและสภาพการทำงาน เสริมสร้างธุรกิจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    ทั้งนี้การลงนามบันทึกข้อตกลงกับ กลุ่มธุรกิจกุ้งครบวงจร ซีพีเอฟในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาสถานประกอบกิจการ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสถานประกอบกิจการอื่นๆ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ส่งผลต่อสินค้าและบริการที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในเวทีการค้าโลก 

 

    ขณะที่นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมและบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน พัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดี เทียบได้กับมาตรฐานแรงงานสากล โดยซีพีเอฟตั้งเป้าหมายผลักดันให้ธุรกิจกุ้งครบวงจรมีสถานประกอบกิจการฟาร์มและโรงงานรวมกว่า 200 แห่งทั่วประเทศสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานภายในปี 2565 นี้ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และสภาพการจ้างงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action  

     ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องตามมาตรฐานแรงงานของไทยและสากลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานประกอบการธุรกิจสัตว์น้ำ ได้รับรางวัลด้านแรงงานจากหลายหน่วยงาน ล่าสุด ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้งปะทิว จังหวัดชุมพร รับถ้วยรางวัลพระราชทานใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลสถานประกอบกิจการขนาดกลางที่มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงานยอดเยี่ยม (Thailand Labour Management Excellence Award 2021)

    นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟยังได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2564 จากจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รางวัลองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชียประจำปี 2564 จากนิตยสาร HR Asia  รางวัลองค์กรสนับสนุนงานด้านคนพิการ ระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2564 จาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รางวัลรายงานความยั่งยืนระดับภูมิภาคเอเชีย จาก Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA)  ในระดับ Gold Class ด้านดูแลและสร้างความผูกพันกับพนักงาน เคารพสิทธิมนุษยชน และดูแลความปลอดภัยพนักงานตามมาตรฐานสากล และซีพีเอฟยังได้รับคัดเลือกเป็น สมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) ประจำปี 2564 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม