ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์
ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ผลิตสินค้า นมเกษตร และน้ำดื่มตราเกษตร จัดงาน “นมเกษตรทำดี ปีที่ 60” เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก้าวขึ้นสู่ ปีที่ 60 วางยุทธศาสตร์การดำเนินงานสำคัญในปี 2565 ขับเคลื่อนธุรกิจตั้งเป้าเป็น Holding Company มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม ปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม S-curves BCG Model สอดคล้องวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้วิจัยและสร้างนวัตกรรมระดับโลก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของศาสตร์แห่งแผ่นดิน
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าปีนี้เป็นปีสำคัญที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครบรอบ 79 ปี ก้าวสู่ปีที่ 80 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีเป้าหมายสำคัญตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อจะขับเคลื่อนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานทุกหน่วยงาน ให้สนับสนุนการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยตาม S-curves BCG Model ด้วยนโยบายเชิงรุกที่เรียกว่า KUniverse โดยอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นส่วนสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศไทย
ทั้งนี้บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัย ในก่ารดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วยบทบาทสำคัญคือ การสร้างองค์ความรู้ให้กับนิสิต เกษตรกร และผู้ประกอบการ การมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการของ SMEs และเกษตรกรรม ให้บริการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของสินค้าและบริการ ติดอาวุธให้เกษตรกร และผู้ประกอบการผ่านงานบริการวิชาการและปรึกษา สร้าง KU Market Place ที่ใช้หลักการเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สร้าง KU Business Ecosystem พร้อมทั้งผนึกกำลังการส่งเสริมผ่านทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย จัดตั้ง Spin-Off Company ภายใต้ KU Holding Company เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สนับสนุนภาคเอกชนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
“ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ ดำเนินกิจการด้วยความใส่ใจสังคม ดูแลทั้งเกษตรกร นิสิต สายส่งนม อีกทั้งการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ตามนโยบายธุรกิจแนวใหม่ตามโมเดล BCG ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็น KUniverse โดยคาดหวังว่า ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นหน่วยงานต้นแบบในการสร้างธุรกิจ การจัดตั้ง Holding Company ให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม และตั้งเป้าหมายให้ก้าวไปถึงการเป็นแบรนด์ในระดับสากล เนื่องจากเรามองเห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการขยายผลสู่หน่วยงานอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยในการดำเนินงานเข้าสู่รูปแบบของการทำเป็นธุรกิจให้มากขึ้น” ดร.จงรัก กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.นุชนาถ มั่งคั่ง รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน เปิดเผยว่า ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีเป้าหมายการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมให้มีคุณภาพและมาตรฐาน สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดต้นทุนในการผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ภายใต้ชื่อ “นมเกษตร” ในโครงการ KU Fresh Milk ที่มีผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ นมรสชาติต่างๆ 9 รสชาติ โยเกิร์ตรสธรรมชาติ และไอศกรีมโยเกิร์ต
นอกจากนี้ยังผลิตน้ำดื่มตราเกษตร เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งนับจากนี้ไป จะเน้นกลยุทธ์การทำการตลาดเชิงรุก พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง Premium value โดยนมเกษตร ได้จัดให้มีการประกวดไอเดียเชิงนวัตกรรม ในโครงการประกวด Milk Design Contest เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่มชนิดเข้มข้น และกรีกโยเกิร์ต ที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับนมเกษตร และการนำเสนอรูปแบบธุรกิจให้นมเกษตร ตอบโจทย์ของผู้บริโภคในยุค 2030 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากนิสิตหลากหลายคณะ
สำหรับ โครงการนมเกษตรทำดีปีที่ 60 มีกิจกรรมทำเพื่อสังคม อาทิ กิจกรรมส่งมอบสุขภาพที่ดี โดยการสนับสนุนนมเกษตร ในโอกาสต่างๆ ให้กับสังคม ชุมชน โดยมีเป้าหมายส่งมอบนมเกษตร 60 กิจกรรมหรือชุมชน และยังมีกิจกรรมร่วมสมทบทุน / บริจาค โดยให้บุคลากรของศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก. และเครือข่ายอาทิ สายส่ง คนกลาง ตัวแทน ซัพพลายเออร์ เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรม นมเกษตรทำดี ปีที่ 60 ตลอดปี 2565 โดยตั้งเป้าการทำดีของบุคลากรของศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก 60 วัน /คน/ปี ผศ. ดร.นุชนาถ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ด้าน ผศ.รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวแสดงความยินดี ถึงความสำเร็จของศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากการมุ่งมั่นผลิตสินค้าด้วยการใช้องค์ความรู้ การศึกษาวิจัย ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บริโภค อีกทั้งมีการต่อยอดทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังสามารถตอบโจทย์ด้านการมุ่งสู่เป้าหมายของ UNSDGs ด้าน Zero Hunger การลดความหิวโหย ลดความยากจน นมเกษตรแบ่งปันและสร้างงานสร้างอาชีพในช่วงการแพร่ระบาดของวิกฤติโควิด-19 ช่วยให้ประชาชนมีงานทำจากการเข้ามาเป็นสายส่งนมให้กับนมเกษตร เป็นต้น
นอกจากนี้นมเกษตร ยังตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนด้าน Good Health and Well-being เพราะนมเกษตรเป็นนมเพื่อสุขภาพตลอดจนให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านกีฬาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง นับว่าศูนย์ผลิตภัณฑ์นมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้นแบบธุรกิจที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เน้นเรื่องวิถีแห่งความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสร้างเครือข่ายและบรรลุเป้าหมาย Partnership for the Goals เนื่องจากมีหลายหน่วยงานทางภาคเอกชนได้เห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจและเปิดโอกาสสร้างเครือข่ายให้นมเกษตรได้เข้าสู่ตลาดสากลต่อไป
ส่วน เภสัชกร ดร.พิสิฐ อุ่ยรุ่งโรจน์ นายกสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงความยินดีที่ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 60 พร้อมให้ความเห็นว่างานวิจัยทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทางศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก. ทำมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นมเกษตรมีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือ มีวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและมีภูมิต้านทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตทุกวันนี้ ในฐานะนายกสมาคม ExMBA ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดการต่อยอดทางด้านธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันมีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จและสามารถที่จะสร้างเครือข่ายให้นมเกษตรเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังสามารถให้การสนับสนุนทางด้านการตลาด การอบรมให้ความรู้ด้าน Digital Marketing ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจของศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก ตามนโยบาย BCG ของมหาวิทยาลัย
ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทยกล่าวชื่นชมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นมเกษตรได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ด้วยประวัติอันยาวนานได้มีการสั่งสมชื่อเสียงและคุณภาพของนมเกษตร อีกทั้งการพัฒนาแปรรูปต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้อีกหลากหลาย อาทิ โยเกิร์ต และ ชีสเป็นต้น นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มคุณค่าได้ ทั้งนี้ ทางสมาพันธ์ จะร่วมผลักดันนมเกษตร ให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายมากขึ้น ทั้งด้านการเชื่อมโยงเครือข่าย การทำการตลาดการประชาสัมพันธ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์นมเกษตรสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ SME ในแต่ละพื้นที่ที่สนใจทำธุรกิจได้ เช่นการเป็นสายส่งนม นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีมากของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการนำเอาหน่วยงานที่มีศักยภาพ มาสร้างคุณประโยชน์เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้มีธุรกิจและกระจายรายได้ ซึ่งต่อไปในอนาคตนมเกษตรจะไม่เป็นเพียง Local Brand แต่จะขยายสู่การเป็นแบรนด์ระดับสากลต่อไป
ภายในงาน “นมเกษตรทำดี ปีที่ 60” มีการแนะนำตัวแทนคนรุ่นใหม่ดื่มนมเกษตร KU Milk ICON อาทินายนิปุณ แก้วเรือน (น้องต้นกล้า) นิสิตปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ น.ส.นันทิภัทร ภาระ (น้องฟ้า) นิสิตปี 1 คณะวนศาสตร์ และนักกีฬาเทควันโดของชมรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายชาคริต วาสประเสริฐสุข (น้องริว) นิสิตปี 2คณะมนุษย์ศาสตร์ และนักกีฬาทีมฟุตบอลเกษตรศาสตร์ เอฟซี ดร.ชเว ยอง-ช็อก (โค้ชเช) จากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ดร.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เครือข่ายนมดีทุกวัยดื่มได้ทุกวัน มีการจัดแสดงนิทรรศการ และผลงานนิสิตในโครงการประกวดนวัตกรรมนมเกษตร KU Milk Design Contest / การประกวด Dairy and KU Milk Model โดย ผศ.ดร. อรช กระแสอินทร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ / การประกวด KU Milk and Circular Living Idea โดย รศ.ดร.วีรเชษฐ์ จิตตาณิชย์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดต่อศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทางช่องทาง Email: kudc@ku.ac.th www.daily.ku.ac.th FB : นมเกษตร