22 องค์กรผลไม้ไทย ถกส่งออกปี 65 ชี้จีนเข้มงวดขึ้น ขณะที่ทุเรียนผลิตถึง 7.2 แสนตัน

  •  
  •  
  •  
  •  

ระดมมันสมอง 22 องค์กรด้านผลไม้ไทย ถกรับมือฤดูกาลผลไม้ส่งออกปี 2565  ผู้อำนวยการสวพ.6  ชี้ปีนี้สารพัดปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งจีนเข้มงวดโควิด ศัตรูพืช ด่านเดี๋ยวปิด เดี๋ยวเปิด ปัญหาเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุผลผลิตทั้งทุเรียน มังคุด ขณะที่คาดการณ์ว่าทุเรียนปีนี้ผลิตสู่ตลาดทะลุ 7.2 แสนตัน ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV ฝันหวาน รถไฟลาว-จีน คาดการณ์ว่า ไทยได้ใช้เป็นเส้นทางส่งออกผลไม้ไทยราวเดือนเมษายนปีนี้ จำทำให้ย่นเวลาส่งออกผลไม้เพียงใช้เวลาไม่เกิน 10 ชั่วโมงถึงคุณหมิงแล้ว

     วันที่ 15 มกราคม 2565 ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “ร่วมด้วยช่วยกัน ฝ่าฟันวิกฤตผลไม้ไทย” ณ ห้องประชุมบุษราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัด จันทบุรี โดยมีนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งมีองค์กรที่เกี่ยวข้องวงการผลไม้ไทย 22 องค์กรมาร่วมแสดงความคิดเห็นภายในงานนี้ ทั้งองค์กรเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้ส่งออก เจ้าหน้ารัฐ และหน่วยราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ผลไม้ไทย ได้ร่วมกันสะท้อนข้อมูล แนวทางและปัญหาต่างของการผลิต การส่งออก ของผลไม้ไทยที่จะส่งไปยังประเทศจีนในฤดูกาล 2565 ที่จะถึงนี้

     นายสุธี  กล่าวว่า มาตรการของทางจังหวัดจันทบุรีในเรื่องของการป้องกันเกี่ยวกับปัญหาทุเรียน เช่น เรื่องของทุเรียนอ่อน มาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งในส่วนของชาวสวน และ ผู้ประกอบการ ที่ทางจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆให้ผ่านไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะมาตรการที่เข้มงวดเรื่องการป้องกันโควิด-19 ในสถานประกอบการคัดบรรจุ ทำให้การตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุลดน้อยลง และได้ขอความมือทุกภาคส่วนให้งดกิจกรรมเช่น การรวมตัวกันเพื่อสังสรรค์ หรือรวมคน ที่อาจจะเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อโควิด-19 จึงต้องขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีในปีนี้

   นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 6 (สวพ.6) กล่าวว่า ประเทศจีนที่เข้มงวดในการตรวจโควิด-19 ทำให้การส่งออกของลำไยในปีที่ผ่านมามีปัญหา และเรื่องของด่านที่เดี๋ยวปิด เดี๋ยวเปิด ปัญหาเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุผลผลิตทั้งทุเรียน มังคุด และมีการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทุเรียนที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณมากกว่า 720,000 ตัน ซึ่งมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้วที่มียอดการส่งออกอยู่ที่ 550,000 ตัน

    อีกทั้งทางการจีนที่เข้มงวดในเรื่องของแมลงศัตรูพืชคือ เพลี้ยแป้ง ที่ทางการของประเทศจีนได้มาขอตรวจสอบย้อนกลับในสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุ ทุก 2 สัปดาห์ทั้งสวนและโรงคัดบรรจุ ซึ่งในปี 2565 นี้คาดว่าจีนจะเข้มงวดทั้งเรื่องของโควิด-19 และ เรื่องแมลงศัตรูพืช มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และในปี 2565 นี้ทาง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 6 เตรียมกำลังคนในการตรวจปล่อยตู้ที่ส่งออก จาก 30 คนเพิ่มเป็น 60 คนและได้เปิดรับอาสาสมัครในการมาช่วยงานตรวจตู้เพื่อเพิ่มกำลังคนในการทำงานที่ด่านตรวจพืช เพื่อให้การตรวจตู้ทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดปัญหาตู้ตกค้างให้มากที่สุด

   ด้านนางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เรื่องของปริมาณผลไม้ของผลไม้เขตภาคตะวันออกในปี 2565 คาดการณ์ปริมาณผลผลิตโดยเฉพาะทุเรียนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 25 % และในปี 2565 ได้มีการประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน เพิ่มขึ้นจากที่มีแค่พันธุ์หมอนทอง มี ชะนี กระดุม พวงมณี เพิ่มขึ้นมาและมีมาตรการตรวจทุเรียนอ่อน มีการจัดการด้านคุณภาพ ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ วางแผนการบริหารจัดการผลผลิต การรณรงค์ด้านคุณภาพ ส่งเสริมด้านการตลาดการแปรรูป ผลไม้พรีเมียม และด้านการขายผลผลิตทางออนไลน์ เป็นสิ่งที่ทางเกษตรจังหวัดจันทบุรีได้ทำมาตลอด

    ส่วน นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึง มาตรการด้านสาธารณสุข โดยมาตรการที่หนึ่งคือการลดการติดเชื้อในคนโดยการทำตรวจ ATK เพื่อตรวจเชื้อโควิด-19 และทำ บับเบิลแอนด์ซีล แบ่งคนทำงานออกเป็นกลุ่มๆ ไม่ให้ทำงานรวมกันทั้งหมดเพื่อลดการติดเชื้อ ส่วนมาตรการที่สองคือ การปลอดเชื้อในผลไม้และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำได้โดยการตรวจ RTPCR ทั้งในผลไม้และลังบรรจุ และจุดที่ต้องใช้ร่วมกันเช่น ราวประตู ราวบันได และการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลผลิต ที่จะต้องเข้มงวดโดยการบริหารจัดการในแต่ละจุด และการจัดการที่ชัดเจน ต้องมีแผนเตรียมรองรับกรณีพบเชื้อเพื่อทำให้การปนเปื้อนไม่มีติดไปกับผลผลิต

    ขณะที่ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV ชี้ประเด็น รถไฟลาว-จีน เส้นทางที่เกษตรกรไทยต้องติดตาม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จะใช้ขนส่งทุเรียนไทยไปยังประเทศจีน มีการคาดการณ์ว่าประมาณเดือนเมษายน ปีนี้จะเริ่มทดลองส่งทุเรียนไทยไปยังประเทศจีนโดยใช้เส้นทางนี้ หรืออย่างเร็วสุดจะเร่งให้ทันเดือนกุมพาพันธ์นี้ รอแค่พิธีสารจากทางจีนเพื่อเข้าไป

    อย่างไรก็ตาม หากส่งได้จริงจะใช้เวลาไม่เกิน 10 ชั่วโมงถึงคุณหมิง และไม่เกิน 20 ชั่วโมงจะกระจายทุเรียนไปได้ทั่วประเทศจีน โดยให้ทางหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันผลักดันโดยการให้ทางรัฐบาลไปเจรจากับทางการประเทศจีนในเรื่องของการทำพิธีสาร ถ้าสามารถเจรจาได้จะลดปัญหาคอขวดที่ด่านต่างๆ ทำให้การส่งออกทุเรียนไทยไปยังประเทศจีนทำได้มากขึ้น