ซีพีเอฟ ยืนยันรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่อั้น ต่อเนื่อง แต่…ต้องไม่รุกพื้นที่ป่า-ปลอดการเผา  

  •  
  •  
  •  
  •  
ซีพีเอฟ สร้างความมั่นใจเกษตรกรในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก  รับปากโรงงานอาหารสัตว์ ซีพีเอฟทั่วประเทศ พร้อมรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ลงทะเบียนในระบบตรวจสอบย้อนกลับ ตอกย้ำรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ไม่บุกรุกป่า ไม่เผา 100% และรับซื้อตามราคากำหนดของกระทรวงพาณิชย์ด้วย
   นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์  รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า  โรงงานอาหารสัตว์ ซีพีเอฟ ยังสามารถรองรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก พร้อมเปิดรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำยึดมั่นนโยบายการจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างรับผิดชอบ โดยผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกข้าวโพดที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ตามแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ”  โดย เกษตรกรยังได้ราคารับซื้อที่ประกาศหน้าโรงงานซึ่งเป็นตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด และขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลผลิต  
    “ขณะนี้ โรงงานอาหารสัตว์ซีพีเอฟ บริษัทยินดีรับผลผลิตข้าวโพดของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และราคารับซื้อยังอยู่ในระดับที่ดี และรับซื้อผลผลิตที่ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเป็นข้าวโพดที่รับซื้อ 100% มาจากแหล่งผลิตที่ไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่าอย่างแน่นอน” นายเรวัติกล่าว
     ในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซีพีเอฟ ยังร่วมมือกับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรให้บริษัท อำนวยความสะดวกเกษตรกรในช่วงการเก็บเกี่ยว โดยเปิดจุดรับซื้อที่ใกล้กับแหล่งปลูกของเกษตรกร เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตมาจำหน่ายได้สะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและได้รับราคาขายที่โปร่งใสและยุติธรรม

      ขณะเดียวกัน บริษัทฯ กับ กรุงเทพโปรดิ๊วส ยังเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกบนพื้นที่ถูกต้องตามเอกสารสิทธิ์มีความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรทันสมัยมาใช้ มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี และมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำปลูกแบบปลอดการเผา ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าผลผลิต ช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน