ธ.ก.ส.จับมือสมาคมชาวไร่อ้อย–โรงงานน้ำตาล ส่งเสริมเกษตรกรลดการเผาอ้อย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิต เสริมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำร่องในพื้นที่กาญจนบุรีราชบุรีและสุพรรณบุรี จำนวนพื้นที่กว่า 1.5 ล้านไร่ตั้ง เป้าลดการเผาอ้อยให้ได้ 100% ภายในปี 2566
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านมลพิษที่ทวีความรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรสามารถประกอบอาชีพควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม
ทาง ธ.ก.ส. จึงได้จับมือกับ 6ภาคีเครือข่ายประกอบด้วยสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต 7ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง (กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง 9 โรงงาน และโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยที่เป็นพันธมิตร) สมาคมส่งเสริมอาชีพการเกษตรสุพรรณบุรี โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี โรงงานน้ำตาลมิตรผล และโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล (อู่ทอง) ในการสนับสนุนและดูแลชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีการผลิตอ้อยมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี
ส่วนการดำเนินงานนอกจากการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ยังมุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเช่น การสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยปรับพื้นที่รองรับรถตัดอ้อยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยและการเผาอ้อยการส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมได้จัดซื้อเครื่องอัดใบอ้อย (Square Balers)
ทั้งนี้เพื่อส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมในกระบวนการผลิตน้ำตาลและผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รวมถึง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนชาวไร่อ้อยด้วยสินเชื่อพิเศษในแต่ละขนาดพื้นที่ (Farm Size) เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพการทำไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืนโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่ทันสมัย (Smart Farming) มาปรับใช้เพื่อให้เกิดผลตอบแทนคุ้มค่ามากขึ้น
นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าว ตั้งเป้าหมายลดการเผาอ้อยลงร้อยละ 20ในปี 2564 จำนวนพื้นที่ 319,627 ไร่ ปี 2565 ลดลงร้อยละ 50 จำนวนพื้นที่ 799,067 ไร่ และภายในปี 2566 ลดลง ร้อยละ 100จำนวนพื้นที่ 1,598,133 ไร่หรือครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ตามนโยบายส่งเสริมการควบคุมดูแลภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของทุกประเทศในขณะนี้