นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้กรมวิชาการเกษตรได้รับรายงานจากสำนักที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่งว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การติดเชื้อ ทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ทำให้จีนติดตามและตรวจสอบสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรของไทยส่งออกไปจีน รวมทั้งยังมีการยกระดับเพิ่มมาตรการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั้งในคนและสินค้านำเข้าโดยหน่วยงานทุกระดับต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล การส่งออกสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า จึงขอแจ้งให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ/สวน ที่ขึ้นทะเบียนส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนทั้งหมดของไทยทราบถึงสถานการณ์มาตรการความเข้มงวดของจีนทั้งในส่วนประเด็นความปลอดภัยของเชื้อโควิดและศัตรูพืชไม่ให้ติดปนเปื้อนไปกับสินค้า
นอกจากนี้จีนได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโควิดตามคู่มือความปลอดภัยอาหารสำหรับผู้ประกอบการ โดยยึดตามแนวปฏิบัติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เช่นการล้างมือ ระยะห่างในการยืนปฏิบัติงาน การยืนแบบสลับฟันปลา การตรวจวัดและบันทึกอุณหภูมิ การให้ความรู้/อบรมและการประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโควิด
การฉีดวัคซีนของพนักงาน ความถี่และแผนการตรวจโควิดเชิงรุก การพ่นฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์และรถขนส่งสินค้า มาตรการในการควบคุมโควิดคนเข้าออกสถานประกอบการ มาตรการที่ใช้หากพบผู้ติดเชื้อ และมาตรการตรวจสอบย้อนกลับในสินค้า เป็นต้น รวมทั้งจีนยังให้ความสำคัญกับการสวมถุงมือในระหว่างการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดด้วย
“ได้รับรายงานมาจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรฯ ประจำกรุงปักกิ่งว่าจีนมีความกังวลในมาตรการป้องกันและควบคุมเชื้อโควิดในโรงคัดบรรจุและสวนจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อมายังสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ และถูกนำมาเป็นประเด็นหลักที่จะพิจารณาระงับโรงคัดบรรจุ/สวนของไทย เพิ่มเติม ดังนั้นจึงยกระดับการตรวจเชื้อโควิด-19 เข้มข้นขึ้น รวมทั้งยังขอสุ่มตรวจประเมินมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 สวนและโรงคัดบรรจุทุก 2 สัปดาห์ผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนส์ โดยจะเริ่มทำการตรวจประเมินในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้” นางสาวอิงอร ปัญญากิจ กล่าว
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า กรณีที่ตรวจประเมินแล้วไม่ผ่านจะถูกระงับการส่งออกชั่วคราวและให้ไปปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องกลับมาให้พิจารณาใหม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไทยมีมาตรการการป้องกันเชื้อโควิด-19 ตามแนวทางปฏิบัติของ FAO และของจีนด้วย