ก.เกษตรฯ ผนึก UN-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืน หวังบรรลุเป้าหมาย SDGs  2030

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ผนึกกำลัง UN ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืน บรรลุเป้าหมาย SDGs  2030 อิ่ม..และ..ดี.. 2030 Sustainable Agri-Food Systems ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO และผู้แทน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยืนยันจะสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมระบบอาหารทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

     ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและการเกษตรต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม อิ่ม…และ…ดี…2030 Sustainable Agri-Food Systems: what will we do next together? โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ UNFSS National Convenor ของไทย กล่าวรายงานต่อที่ประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังร่วมกับองค์การสหประชาชชาติ ( UN )ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน “อิ่มและดี 2030” “Healthy Diets for All”

       ในที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนและหารือแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนระบบอาหารของไทยให้มีความมั่นคง ยั่งยืน รักษาสมดุลทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงร่วมกันแสดงข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและแนวทางการดำเนินงานของไทยในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ก็เพื่อต่อยอดพันธกิจจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

                                                ดร.ทองเปลว กองจันทร์ 

     อย่างไรก็ตาม จากการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา นายแอนโทนิโอ กูเตเรส เลขาธิการสหประชาชาติ มอบหมายภารกิจสำคัญแก่องค์กรภายใต้สหประชาชาติ ให้ร่วมทำงานเพื่อ สนับสนุนประเทศสมาชิกในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนระบบอาหารของประเทศให้สำเร็จลุล่วง พร้อมประกาศว่าในอีกสองปีข้างหน้าจะจัดให้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานขับเคลื่อนให้ประเทศสมาชิกนำเสนอความก้าวหน้าและผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารของแต่ละประเทศ

       ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมดังกล่าว และแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความสมดุลและยั่งยืนในทุกมิติ ตามวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโยบายเกษตรและอาหาร “3S” ที่เน้นด้านความปลอดภัยของอาหาร (Safety) ความมั่นคงอาหาร (Security) และความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability) ซึ่งไทยจะขับเคลื่อนด้วยโมเดล เศรษฐกิจ BCG Economy

     “ขอบคุณ Mr. Jong-Jin Kim ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO และผู้แทน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ Ms. Gita Sabharwal หัวหน้าทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ที่ได้ให้คำแนะนำและการประสานงานเป็นอย่างดีจนนำไปสู่ความสำเร็จ ในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Food System Summit) เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา เราต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและร่วมมือกันอย่างแข็งขัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอาหารทางการเกษตร
ที่ยั่งยืน” ดร.ทองเปลว กล่าว

      ปลัดกระทรวงเกษตร กล่าวอีกว่า  กระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่าพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับองค์กรระหว่างประเทศ สถาบัน ภาคเอกชน และอื่น ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกเพื่อเปลี่ยนระบบอาหารไปสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องรีบลงมือทำกันตอนนี้บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกันและเป้าหมายความสำคัญเดียวกันเพื่อมนุษยชาติและโลกของเราใบนี้ เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งอย่างมีส่วนร่วมต่อไป” ปลัดเกษตรฯ กล่าว

      การประชุมในครั้งนี้  Mr. Jong-Jin Kim ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO และผู้แทน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวชื่นชมกระทรวงเกษตรฯไทยที่ได้จัดเวทีชวนคิดชวนคุย National Dialogues มากกว่า 10 ครั้ง กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในระบบอาหาร ซึ่งน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง FAO จะสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมระบบอาหารทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

       เป้าหมายหลักของกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของ FAO โดย FAO กำลังมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในการลดการสูญเสียอาหารและของเสีย การเสริมสร้างการจัดการดิน น้ำ ป่าไม้ และระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน ผ่านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (DRR) โดยได้ริเริ่มโครงการ Digital Village Initiative ซึ่งจะดำเนินการในประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงนโยบายและการแก้ปัญหาการเกษตรดิจิทัล และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียม โดย FAO จะสนับสนุนด้านเทคนิคเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การริเริ่มด้านข้อมูลทางเลือกและนวัตกรรม เราได้จัดหากองทุน GEF ให้กับประเทศไทยแล้วใน 3 โครงการ – 1) การจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้แบบบูรณาการ 2) การใช้ทรัพยากรประมงในอ่าวไทยอย่างยั่งยืน 3) การเสริมสร้างความมั่นคงทางน้ำและการดำรงชีวิตในลุ่มน้ำโกลกข้ามแดน และน้ำ

          ด้าน Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือ UNDP กล่าวว่า  UN Sustainable Development Cooperation Framework ซึ่งเป็นแผนในระยะ 5 ปี โดยได้หารือกับรัฐบาลไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงภาคเอกชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วยUNFSS ได้รับฟังเสียงทุกภาคส่วนเท่าที่จะมากได้ เพื่อมุ่งเน้นการหาทางแก้ไขปัญหาและผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วน รวมทั้งได้กล่าวถึง 3 เสาหลัก เสาหลักแรก คือ เศรษฐกิจสีเขียว ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นด้านเกษตรกรรม

         เสาหลักที่ 2 คือการนำนวัตกรรมและดิจิทัลมาใช้ในการเกษตรในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจการพลิกโฉมระบบอาหาร และเสาหลักที่ 3 ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพราะเป็นกลุ่มที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิอากาศ ผลผลิตทางการเกษตรและด้านการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้มีความเปราะบางมากที่สุด เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.

      สำหรับหน่วยงานที่เข้าประชุมในครั้งนี้มีผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ (UN)ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้ประสานงานของสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Resident Coordinator) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) และสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) โดยมี ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ และสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมฯในครั้งนี้