สศก.ชี้เศรษฐกิจภาคเกษตรไตรมาส 3 ปี 64 โต 6.5% คาดทั้งปีขยายตัวร้อยละ 1.7-2.7

  •  
  •  
  •  
  •  

สศก. ชี้เศรษฐกิจภาคเกษตรใตรมาส 3 ฟื้นตัว ทำให้ GDP ดีดตัวโตถึง 6.5% สาขาพืชขยายตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 9.6  เผยสาเหตุเกษตรกรทำการเพาะปลูกมากขึ้น  ขณะที่สาขาประมง หดตัว 3.0% เหตุจากช่วงฤดูมรสุม และผลกระทบโควิด-19 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 คาดจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7-2.7 เมื่อเทียบกับปี 2563

       นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์และประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ของปี 2564 (กรกฎาคม – กันยายน 2564) เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.5 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 เนื่องจากในปี 2563 หลายพื้นที่ของประเทศประสบภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร

       ขณะที่ในปี 2564 สถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น และการเริ่มต้นฤดูฝนที่เร็วกว่าปี 2563 ทำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวดีขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต

      อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่ ที่เข้าสู่ประเทศไทยในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง และเกิดน้ำท่วมหลากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรของภาคเหนือตอนล่าง แต่พื้นที่เพาะปลูกพืชส่วนหนึ่งได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วก่อนหน้า ทำให้ในภาพรวมไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรในไตรมาสนี้มากนัก

      นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐในการส่งเสริมอาชีพเกษตร ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน การส่งเสริมการตลาดทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และบริหารจัดการสินค้าเกษตร การประกันรายได้สินค้าเกษตรที่สำคัญ และการพักชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและกิจกรรมการผลิตของโรงงานแปรรูปบางแห่งต้องหยุดชะงักลง

สาขาพืชขยายตัวร้อยละ 9.6

      สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืชขยายตัวร้อยละ 9.6 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่างในปีที่ผ่านมา ประกอบกับในปีนี้ฤดูฝนเริ่มต้นเร็วกว่าที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

      ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรและราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ประกอบกับราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งเกษตรกรมีการดูแลแปลงปลูก และควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้มากขึ้น มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกทดแทนในพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

    สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงมีการบำรุงรักษาต้นสับปะรดมากขึ้น รวมทั้งจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกที่ปล่อยว่าง และปลูกแซมในสวนยางพาราและสวนมะพร้าวที่ปลูกใหม่ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นยางพารามีความสมบูรณ์มากขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพียงพอและเกษตรกรมีการดูแลรักษามากขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคาที่สูงขึ้น ประกอบกับต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง รวมถึงมีพื้นที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากพื้นที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2558 ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในปีนี้

    ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมันในปี 2561 ทดแทนพืชอื่น ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 2564 ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้น้ำหนักทะลายปาล์มเพิ่มขึ้น ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล ไม่มีโรคและแมลงระบาด ทำให้ต้นลำไยออกผลได้ดีและมีจำนวนผลต่อช่อเพิ่มขึ้น

    ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2559 ซึ่งเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกแทนยางพารา กาแฟ และผลไม้ เช่น ลองกองและเงาะ เริ่มให้ผลผลิตในปี 2564 เป็นปีแรก ประกอบกับราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงดูแลรักษาเป็นอย่างดี และสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น มังคุดและ เงาะ  ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ทำให้มีการออกดอกติดผลได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา

สาขาปศุสัตว์ขยายตัว 20 %

      สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 2.0 เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด และการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน โดยไก่เนื้อมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้o

    สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการผลิต และมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นของระบบ Biosecurity เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในระดับสูงสุด ส่งผลให้อัตรารอดของสุกรเพิ่มสูงขึ้นไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ เฝ้าระวังโรคระบาดได้ดี ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืดอายุการปลดแม่ไก่ยืนกรง ทำให้ปริมาณไข่ไก่เพิ่มขึ้น 1-2 ล้านฟองต่อวัน และ น้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ภาครัฐมีนโยบายพัฒนาคุณภาพน้ำนมโค โดยให้ความสำคัญด้านอาหารในการเลี้ยงโคนม ส่งผลให้น้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มและมีคุณภาพดีขึ้น

ประมงหดตัวร้อยละ 3.0

     ด้านสาขาประมงหดตัวร้อยละ 3.0 เป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูมรสุมชาวประมงบางส่วนไม่สามารถนำเรือออกจับสัตว์น้ำได้ ส่วนปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีทิศทางลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่การเลี้ยง ลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง ประกอบกับบางพื้นที่มีการระบาดของโรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว หัวเหลือง จึงทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

     กระนั้นผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเลี้ยงจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำลำคลองที่มีมากขึ้น โดยเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยงเพื่อเพิ่มอัตราการรอด ส่งผลให้มีผลผลิตเพิ่ม

สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.8

    ส่วนสาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.8 โดยกิจกรรมการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืช มีการดูแลและบำรุงรักษามากขึ้น ส่งผลให้มีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น

ยูตาลิปตัสเพิ่มขึ้น ทำให้ป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 1.0

      สาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยผลผลิตไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวล และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น

     ผลผลิตรังนกของไทยยังมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดจีนในการบริโภคเพื่อบำรุงสุขภาพ และ ถ่านไม้มีการส่งออกเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับผลผลิตไม้ยางพาราลดลงตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น ประกอบกับโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราหลายแห่งในภาคใต้ปิดตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 และผลผลิตครั่งลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และความต้องการของประเทศคู่ค้าหลักในการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดลง

แนวโน้มทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 – 2.7

       ทั้งนี้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2563โดยสาขาการผลิตสำคัญ ได้แก่ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ และฤดูฝนที่มาเร็วกว่าปีที่ผ่านมาเกษตรกรเริ่มการเพาะปลูกได้เร็วและขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น

       ประกอบกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิต และยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาอุทภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ซึ่งเป็นผลจากพายุเตี้ยนหมู่ รวมถึงพายุที่อาจมีเพิ่มเติมในช่วงปลายฤดูฝน สศก. จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาส 4

     ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงก็ยังมีที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาท ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต การกระจายผลผลิต และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์