ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทยสดใส 3 ไตรมาสปีนี้พุ่งขึ้น 31% 
ขึ้นแท่นอันดับที่ 3 ของโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย 3 ไตรมาสปี 2564 ยังสดใส กรมปศุสัตว์ เผยตัวเลขส่งออกไปแล้ว 525,966 ตัน มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ชนิดกระป๋องได้รับความนิยมมากที่สุด มีสหรัฐอเมริกานำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย คาดตลอดปีจะมีมูลค่าส่งออกทั้งหมดกว่า 4.8 หมื่นล้าน เป็นอันดับ 3 ของโลก 

   นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า วงการอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในปี 2564 ยังคงมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมการส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี (มกราคม-กันยายน 2564)  มีปริมาณการส่งออกรวม 525,966 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 40,533 ล้านบาท หรือเพิ่ม 31 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องสำหรับสัตว์เลี้ยง และอาหารเม็ดสำหรับสัตว์เลี้ยง คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 55 และร้อยละ 41 ตามลำดับ โดยมี ประเทศคู่ค้าที่นำเข้าหลัก ได้แก่สหรัฐอเมริกา (20%) มาเลเซีย (15%) อินโดนีเซีย (11%) และประเทศอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

    น.สพ.สรวิศ ธานีโต

     อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าตลอดปี 2564 จะมีการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง คิดเป็นมูลค่าราว 48,000 ล้านบาท หากปัจจัยเสริมด้านตลาดและราคาต้นทุนวัตถุดิบยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากประเทศไทย ประกอบกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายตัว นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในปีนี้ ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ สวนทางเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 นี้

     ด้านนายโสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับดูแลกระบวนการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) เพื่อการส่งออก การขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก ควบคุมคุณภาพมาตรฐานโรงงานให้มีระบบรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี (GMP) และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) การตรวจสอบกระบวนการผลิต การออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงสอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้า ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (ต.ค. 2564) มีจำนวนโรงงานที่ได้รับขึ้นทะเบียนเพื่อการรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออกและมีการผลิตส่งออก รวมทั้งสิ้น 86 แห่ง