ธ.ก.ส.จัดประกวดชุมชนอุดมสุขยอดเยี่ยม ประจำปีบัญชี 2564 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการยกระดับชุมชน โดยค้นหาจากชุมชนอุดมสุข ธ.ก.ส. กว่า 5,200 แห่ง ที่มีการพัฒนาที่โดดเด่น จังหวัดละ 1 ชุมชน มาคัดเหลือภาคละ 3 ชุมชน รวม 27ชุมชน เพื่อชิงชัยในระดับประเทศ ลุ้นเงินรางวัลกว่า 1.1 ล้านบาท ชนะเลิศ มูลค่า 1 แสนบาท และรางวัลอื่น ๆพร้อมโล่เกียรติยศติดตามรับชมผลงานชุมชนผู้เข้าประกวด 20ต.ค. นี้
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านการพัฒนาชุมชน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับสู่การเป็นชุมชนอุดมสุข โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ทั้งในด้านการส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การมีส่วนร่วมและการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถจัดทำแผนงานโครงการหรือแผนธุรกิจชุมชนได้ และเพื่อให้โครงการดังกล่าวปรากฏผลเป็นรูปธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีสู่สาธารณชน
ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงได้จัด “โครงการประกวดชุมชนอุดมสุขยอดเยี่ยม ประจำปีบัญชี 2564” เพื่อคัดเลือกชุมชนอุดมสุข ธ.ก.ส. จากทั่วประเทศจำนวน 5,216 ชุมชนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับชุมชนรวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น ๆ ในการปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
สำหรับคุณสมบัติของชุมชนที่เข้าประกวด ต้องเป็นชุมชนอุดมสุขที่มีผลประเมินอยู่ในระดับ Aเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกและภาคีเครือข่าย มีการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต และมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งการตัดสินในระดับประเทศจะใช้เกณฑ์ ทั้งด้านการตลาด การจัดการความรู้ การพัฒนาต่อยอด การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และด้านธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ ในการจัดประกวด แต่ละจังหวัดจะคัดเลือกชุมชนอุดมสุขดีเด่นอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ชุมชน เพื่อนำมาประกวดในระดับภูมิภาค รวม 9 ภาค โดยคัดเลือกชุมชนดีเด่นภาคละ 3 ชุมชน รวม 27 ชุมชน จากนั้นนำมาคัดเลือกชุมชนยอดเยี่ยมระดับประเทศในรูปแบบNew normal โดยให้ชุมชนส่งรายละเอียดข้อมูลในการนำเสนอให้คณะกรรมการตัดสินการประกวดชุมชนอุดมสุขพิจารณาตามหลักเกณฑ์การประกวดชุมชนอุดมสุขเบื้องต้น และนัดหมายผู้นำชุมชน นำเสนอและ ตอบข้อซักถามผ่านระบบ VDO Conference ในวันที่ 20 ตุลาคม 2564
ในส่วนของชุมชนที่ชนะการประกวดในระดับประเทศ รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 70,000 บาท และรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลระดับภูมิภาค รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศในทุกรางวัล
รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1,120,000 บาท นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขามาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ คุณลดาวัลย์ คำภา ประธานคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจฐานราก ธ.ก.ส,.ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)ผู้แทนวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน ทั้งนี้ ประกาศผลชุมชนผู้ชนะในวันที่ 20ตุลาคม 2564 ผ่านทางเว็บไซต์www.baac.or.th
นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. มุ่งหวังที่จะให้ชุมชนที่ได้รับรางวัลเป็นแบบอย่างของการพัฒนาให้กับชุมชนอื่น ๆอีกทั้งส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพของชุมชนดีเด่นทั้ง 27 แห่งอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนให้ชุมชนนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบอาชีพของคนในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ตามแนวคิดของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model)ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ก่อให้เกิดธุรกิจในชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของชุมชน (Gross Community Product :GCP) อันเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายของความยั่งยืนต่อไป.