กระทรวงเกษตรเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เดินหน้าขับเคลื่อนระยะที่ 1 สู่ระยะที่ 2 ขยายเป้าหมายสินค้าเกษตร 10 ชนิด ตั้งเป้าในพื้นที่ 2 ล้านไร่ ภายในปี 66 ครอบคลุมพื้นที่ 42 จังหวัด มีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 16 บริษัท
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดตัวโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ว่า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยกระดับการบริหารจัดการสินค้าเกษตร และสร้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายการผลิต การตลาด และโลจิสติกส์สินค้าเกษตรระหว่างเกษตรกร กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต”
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม” จากระยะที่ 1 สู่ระยะที่ 2 พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ในปี 2566 ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานรับซื้อ ผ่านกลไกคณะทำงานจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตและการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
โดยโครงการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่และบริหารจัดการแผนการผลิตสินค้าร่วมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีตลาดอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2564 –2566)
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 มีสินค้าเกษตรเป้าหมาย 5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ พื้นที่รวม 298,084 ไร่ เกษตรกร 25,286 ราย ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 32 จังหวัด และมีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 7 บริษัท โดยเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อ ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ด้านการผลิตและการตลาดที่ชัดเจน ซึ่งจะระบุถึงพื้นที่เป้าหมาย เกษตรกรเป้าหมาย คุณลักษณะ (SPEC) ผลผลิตที่โรงงานต้องการ ราคาตามชั้นคุณภาพของผลผลิต รวมถึงปริมาณและช่วงเวลาการรับซื้อที่มีความสมบูรณ์ เป็นข้อตกลงร่วมกันป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนโครงการฯ ระยะที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการฯ กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะหน่วยงานประสานการขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ได้มีการชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ในการขับเคลื่อนโครงการฯ ระยะที่ 1 ให้กับหน่วยงานระดับจังหวัดที่เป็นจังหวัดเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้ หน่วยงานในจังหวัดเป้าหมายรับนโยบายและเร่งขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ได้เร่งประชุมหารือร่วมกับโรงงานรับซื้อผลผลิต และประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งเชิญชวนให้เกษตรกรเครือข่ายของโรงงานรับซื้อผลผลิตจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่และเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ทันก่อนฤดูการเพาะปลูก
ส่วนการดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 2 ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดพื้นที่และสินค้าเป้าหมาย ในเบื้องต้นมีสินค้าเกษตรเป้าหมาย 10 ชนิด พื้นที่รวม 1,762,684.14 ไร่ เกษตรกร 134,310 ราย ครอบคลุมพื้นที่ เป้าหมาย 42 จังหวัด และมีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 16 บริษัท
“การเปิดตัวโครงการฯ ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีของความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่จะขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมกัน โดยเน้นอุตสาหกรรมเกษตร รับซื้อ เกษตรกรผลิต รัฐสนับสนุน เพื่อขยายผลให้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการฯ 2 ล้านไร่ ภายในปี 2566” ดร.เฉลิมชัย กล่าว