“มนัญญา” นั่งหัวโต๊ะไล่บี้แก้ปัญหาเด็ก 17 โรงเรียนไม่ได้กินนมที่ระยอง แย้มอาจต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่

  •  
  •  
  •  
  •  

“มนัญญา” นั่งหัวโต๊ะถกแก้ปัญหากรณี 17 โรงเรียนเอกชนในจังหวัดระยองไม่ได้รับนมจากผู้ประกอบการ ไล่บี้กรมปศุสัตว์ให้ไปดูรายละเอียด หลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนใหม่  เผยอาจต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ให้สอดคล้องมติ ครม.  26 มีนาคม 2562 ย้ำต้องเร่งปรับปรุงช่องโหว่เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

      นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแก้ปัญหานมโรงเรียน จ.ระยอง ร่วมกับ ดร.อาทิตย์ เพ็ชรรัตน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสมพร ศรีเมือง รองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และผู้เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

        นางสาวมนัญญา กล่าวว่า จากกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ จ.ระยอง ว่ามีโรงเรียน 17 แห่งที่ไม่ได้รับนมโรงเรียนจากผู้ประกอบการนั้น ขณะนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลเอกสารแล้วแสดงถึงความไม่โปร่งใสในโควตาของผู้ประกอบการนมโรงเรียน จึงได้มีการเชิญกรมปศุสัตว์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ประชุมด่วนในวันนี้ และได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ไปดูรายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนใหม่ อาจต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในหลายๆ ประเด็น

      ทั้งนี้เพื่อให้รัดกุมและดียิ่งขึ้น และเกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก โดยให้สอดคล้องกับมติ ครม. เรื่อง การทบทวนระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ปี 2562 ด้วย และจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอาการนมเพื่อเด็กและเยาวชน ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อไป

         นอกจากนี้ ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนและหลัง ให้มีระบบติดตามคุณภาพนม ตรวจสอบเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ตรวจสอบความพร้อมและประวัติของผู้ประกอบการ ในส่วนของระบบรายงานเรื่องการตรวจสอบคุณภาพต้องมีหน่วยกลางที่วิเคราะห์ ต้องไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมคุณภาพ เราต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ถูกต้อง

        สำหรับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ปี 2564 ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จำนวน 6 กลุ่ม รวม 95 ราย จำนวนนักเรียน 6,951,599 คน ปริมาณสิทธิการจำหน่าย 1,039.33 ตันต่อวัน โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานโครงการฯ ดังนี้

       1.คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน /ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์เป็นเลขาฯ) ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (ตามมติครม.) รวบรวมประเด็นปัญหาของหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ ประชุมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ และเสนอต่อคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนพิจารณา

      2. คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน (ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นเลขาฯ) เห็นชอบและประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ (ตามมติครม.)

     3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) รับสมัคร/จัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการ (ตามมติครม.) ติดตามการจัดทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนให้ครบถ้วน (ตามมติครม.) ตรวจสอบ ติดตามและกากับดูแลโครงการ ในพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดทุกจังหวัด

     4. อสค. ทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทุกรายกับผู้ประกอบการ (ตามมติครม.) มอบอำนาจให้ผู้ประกอบการไปทำสัญญาซื้อขายกับหน่วยจัดซื้อ/โรงเรียน (ตามมติครม.) จัดเก็บสัญญาซื้อขายนมโรงเรียน และ 5. หน่วยจัดซื้อ/โรงเรียน จัดซื้อและทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียน เก็บรักษาและแจกจ่ายนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนดื่ม