ฉันทานนท์ วรรณเขจร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สรุปเศรษฐกิจภาคการเกษตร ระบุในไตรมาส 2 ปี 2564 (เม.ย.- ก.ย.64) ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีที่แล้ว เผยด้านพืช-ปศุสัตว์สดใสโต 2-2.3 % ขณะที่ประมงเศร้าลดลงถึง 3.6 ทั้งกุ้งทะเล และปลา คาดตลอดทั้งปี 2564 จะขยายได้ที่ 1.7-2.7%
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 (เมษายน – มิถุนายน 64) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่หดตัวถึงร้อยละ 3.1 เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัด หลายพื้นที่ของประเทศประสบภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร
ขณะที่สถานการณ์ในปี 2564 มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และช่วงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงสามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้สถานการณ์การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต
นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ การส่งเสริมอาชีพเกษตร การพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การประกันรายได้สินค้าเกษตรที่สำคัญ และการพักชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ รวมถึงกิจกรรมการผลิตของโรงงานแปรรูปบางแห่งต้องหยุดชะงักลง ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรบางชนิดชะลอตัวลงไปด้วย
คาดปี 2564 เศรษฐกิจการเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 1.7 – 2.7
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2564 สศก. คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยทุกสาขาการผลิตมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นในช่วงต้นปี และคาดว่าจะมีปริมาณฝนตกในระดับปกติในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐในด้านการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีในการผลิต และการยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาท อาจส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้า ต้นทุนการผลิต และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์
พืช-ปศุสัตว์ ส่อสดใส
ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวในรายละเอียดแต่ละสาขาว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ที่ขยายตัวได้ในไตรมาส 2 เป็นผลจากการขยายตัวของทุกสาขา ยกเว้นสาขาประมงที่หดตัว โดย สาขาพืช ขยายตัว ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 พืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่
-ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 และราคาข้าวเปลือกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะปลูก
มันสำปะหลัง ช่วงที่ผ่านมาราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่ปลูกทดแทนอ้อยโรงงานที่ราคา มีแนวโน้มลดลง
-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่แปลงปลูกและเฝ้าระวังโรคมากขึ้น ประกอบกับมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น
-สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรบำรุงรักษาต้นสับปะรดดีและขยายพื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ปลูกสับปะรดที่ปล่อยว่างในช่วงที่ผ่านมา
-ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ ประกอบกับต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง รวมทั้งภาครัฐได้ดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง
-ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกในปี 2561 ทดแทนพืชชนิดอื่น โดยปาล์มน้ำมันที่ปลูกเริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 2564 ประกอบกับในแหล่งผลิตสำคัญมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยมากขึ้นผลผลิตปาล์มน้ำมันจึงเพิ่มขึ้น
– ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีการบำรุงและดูแลรักษาเป็นอย่างดี ประกอบกับพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2559 ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ซึ่งปลูกทดแทนยางพารา และผลไม้อื่นๆ เช่น เงาะ มังคุด และลองกอง เริ่มให้ผลผลิตในปี 2564 เป็นปีแรก
ด้านปศุสัตว์ โตชึ้นร้อยละ 2.3
ส่วนสาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด และการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าปศุสัตว์หลัก คือ
-ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีการขยายการผลิตรองรับความต้องการของตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้
– สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีการบริหารการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นของระบบ Biosecurity ของฟาร์ม เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในระดับสูงสุด ส่งผลให้อัตรารอดของสุกรเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยด้านราคาที่จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต
-ไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศแวดล้อมของการเลี้ยงเอื้ออำนวย ส่งผลต่อการออกไข่ของแม่ไก่ รวมทั้งการดำเนินมาตรการรักษาสมดุลของผลผลิตไข่ไก่ในระบบ
-น้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนภาครัฐได้มีการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาด
สาขาประมงเศร้า หดตัวร้อยละ 3.6
สาขาประมง หดตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน จำนวนวันที่ชาวประมงนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำจึงลดลง
กุ้งทะเล ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เกษตรกรจึงปรับลดพื้นที่การเลี้ยง ลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง อีกทั้งบางพื้นที่มีการระบาดของโรคขี้ขาวและโรคตัวแดงดวงขาว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเพียงพอต่อการเลี้ยง อีกทั้งเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยงจึงเพิ่มอัตราการรอดทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นสาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยกิจกรรมการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้น และราคาพืชหลายชนิดมีแนวโน้มสูงขึ้น เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชและมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยผลผลิตไม้ยางพาราขยายตัวตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น ขณะที่ผลผลิตไม้ยูคาลิปตัสซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเยื่อกระดาษและเป็นพืชพลังงาน ยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่น ด้านผลผลิตรังนกของไทยยังมีศักยภาพและคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับรังนกของคู่แข่ง ทำให้มีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันถ่านไม้ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจีนและญี่ปุ่นอย่างมากทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรเพื่อรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป และปรับสู่รูปแบบการเกษตรวิถีใหม่ อาทิ
1) นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เป็นนโยบายหลักในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้หลากหลาย โดยร่วมมืออย่างเข้มข้นกับกระทรวงพาณิชย์ภายใต้โมเดล “เกษตร – พาณิชย์ทันสมัย”
2) การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบโลจิสติกส์พัฒนาฐานข้อมูล Big Data ในการใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการบริหารและช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลที่ดีและเพียงพอต่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม
3) เกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำสูง พัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) โดยเชื่อมโยงการทำงานกับ ศพก. เพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่และเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture)
4) การบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงตามศักยภาพของที่ดิน รวมถึงบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
5) สินค้าเกษตรคุณภาพและมูลค่าสูง ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างแบรนด์ให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น สมุนไพร แมลงเศรษฐกิจ รวมทั้งสินค้าเกษตรเพื่อพลังงานและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
6) การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร และมีการพัฒนาอาหารของไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการสินค้าเกษตรปลอดภัยใน 5 ร ได้แก่ โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล เรือนจำ ร้านอาหาร
และ 7) การสร้างความเข้มแข็งในสถาบันเกษตรกร ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรชุมชน ส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Star Up เป็นหน่วยธุรกิจให้บริการทางการเกษตร (Agriculture Service Providers : ASP) เช่น เทคโนโลยีในการดูแลรักษา รถจักรกลในการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยว สำหรับให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกรแบบครบวงจร
อัตราการเติบโตของภาคเกษตร
หน่วย: ร้อยละ
สาขา | ไตรมาส 2/2564 (เม.ย. – มิ.ย. 64) |
ภาคเกษตร | 1.2 |
พืช | 2.0 |
ปศุสัตว์ | 2.3 |
ประมง | -3.6 |
บริการทางการเกษตร | 2.5 |
ป่าไม้ | 2.0 |