กรมวิชาการเกษตร ย้ำผู้ประกอบการให้ยึดแนวปฏิบัติป้องกันเชื้อ โควิด-19 อย่างเร่งครัด ตั้งแต่สวน โรงคัดบรรจุ จนถึงขั้นตอนขนส่งต้องเข้มข้นทุกขั้นตอน เผยจีนหวั่นเชื้อ โควิด-19 ปนเปื้อนไปกับสินค้านำเข้าออกมาตรการตรวจเข้มงวด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และด่านตรวจพืชกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่ล้งทุกขั้นตอนป้องโควิดก่อนตรวจปิดตู้ ระบุหากตรวจพบถึง 2 ครั้ง จะถูกห้ามรถสินค้าของบริษัทนั้นๆเข้าประเทศถาวรโดยอัตโนมัติทันที
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยที่ยังมีอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อในประเทศสูงอย่างต่อเนื่อง ทางนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรแจ้งเตือนผู้ส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนให้เฝ้าระวังและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันเชื้อโควิด-19 ติดปนเปื้อนไปกับสินค้าผลไม้อย่างเคร่งครัด
เนื่องจากปัจจุบันฝ่ายจีนมีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก โดยสินค้าผลไม้ที่ส่งออกจีนจะถูกตรวจกรดนิวคลิอิกเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ในสินค้า และตรวจหาเชื้อในคนขับรถสินค้า รวมทั้งการพ่นฆ่าเชื้อในสินค้า โดยเฉพาะที่ด่านโม่ฮานที่มีการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก และได้มีการเน้นย้ำให้ผู้นำเข้าหรือบริษัทที่เป็นตัวแทนประสานกับผู้ส่งออกของไทยให้ทำการฆ่าเชื้อตู้คอนเทนเนอร์ทั้งภายในและภายนอก รวมถึงห้องคนขับ และฆ่าเชื้อบรรจุภัณฑ์ก่อนขึ้นตู้
ทั้งนี้หากตรวจพบเชื้อโควิด-19 สินค้าผลไม้ครั้งที่ 1 จะห้ามรถและสินค้าของบริษัทนั้นเข้าประเทศชั่วคราว 10-15 วันโดยอัตโนมัติ หากตรวจพบครั้งที่ 2 ห้ามรถสินค้าของบริษัทนั้นเข้าประเทศถาวรโดยอัตโนมัติ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 15-22 กรกฎาคมที่ผ่านมามีการนำเข้าผลไม้ไทยที่ด่านโม่ฮานเฉลี่ยวันละประมาณ 100 ตู้
ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงขอย้ำเตือนผู้ประกอบการของไทยในการควบคุม กำกับดูแลและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดตั้งแต่สวน โรงคัดบรรจุและขั้นตอนการขนส่งในทุกขั้นตอนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ติดไปกับสินค้า ซึ่งในขณะนี้จีนได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก หากตรวจพบอาจนำไปสู่การระงับการนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยได้
จึงขอให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้อย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน ซึ่งแนวทางดังกล่าวยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทางจีนให้การยอมรับพร้อมกับแนะนำให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกันเพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิต
นายพิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าในขณะนี้จีนมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก จึงขอย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยจะมีเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรเข้าไปติดตามกำกับดูแลที่โรงคัดบรรจุเพื่อให้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ทางภาคใต้โดยเฉพาะทุเรียน โดยช่วงระหว่างวันที่ 1 – 26 กรกฎาคม 2564 มีการส่งออกทุเรียนไปจีนแล้วจำนวน 5,337 ตู้ และในเดือนสิงหาคมนี้จะมีผลผลิตทั้งทุเรียนและมังคุดออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ภายในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร ร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบใบรับรอง GAP และศัตรูพืช เพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก
พร้อมกันนี้กรมได้เพิ่มทั้งจำนวนบุคลากรและขยายระยะเวลาในการปฏิบัติงานจากเดิม 19.00 น.ไปจนถึง 22.00 น.เพื่อให้สามารถตรวจปิดตู้สินค้าให้กับผู้ประกอบการได้ทันโดยไม่มีสินค้าตกค้างในแต่ละวัน