สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ วันที่ 19-23 กรกฎาคม 2564
ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น
สัปดาห์นี้ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นจากหาบละ 621 บาท เป็นหาบละ 642 บาท เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงปลายฤดูกาล ทำให้มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าสู่ตลาดน้อย
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกันยายน 2564 ราคาอยู่ที่ 571.75 เซนต์/บุชเชล ปัจจุบันกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากที่ 65% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อย และคาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกหลักแถบมิดเวสต์จะมีปริมาณน้ำฝนลดลง ทำให้มีความกังวลว่าอาจเกิดความเครียดในพืช (Crop Stress) หากน้ำในดินมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในช่วงที่ผลผลิตกำลังเจริญเติบโต
ขณะที่รัฐปารานาในประเทศบราซิลยังคงเผชิญกับปัญหาอุณหภูมิลดต่ำลง อาจทำให้พืชบางส่วนได้รับความเสียหายได้
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 18.60 บาท การเพาะปลูกและสภาพอากาศในฝั่งอเมริกายังคงทรงตัวดี โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อการเพาะปลูก ทำให้คาดการณ์ผลผลิตฤดูกาลใหม่ยังคงมีปริมาณที่สูง ด้านรายงานสต๊อกคงเหลือของแต่ละประเทศมีปริมาณที่ค่อนข้างน้อย อาจทำให้มีการเร่งซื้อผลผลิตเพื่อสร้างสต๊อกมากขึ้นในตลาด และส่งผลให้ราคาขยับขึ้นได้ ขณะที่ค่าระวางเรือทั่วโลกยังคงสูงขึ้นจากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 1,425.25 เซนต์/บุชเชล และกากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 369.8 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานคุณภาพถั่วเหลืองอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก อยู่ที่ 60% ขยับขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1% ขณะที่ National Oilseed Processors Association (NOPA) รายงานยอดการแปรรูปถั่วเหลืองบด (Soybean Crush) ของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ 152.410 ล้านบุชเชล ลดลงเกือบ 9% จากเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นสถิติต่ำที่สุดในรอบหลายเดือน
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว
ปลาป่น : ราคาทรงตัว
ปัจจุบันประเทศเปรูจับปลาได้แล้ว 97% ของโควต้า โดยคาดว่าจะปิดฤดูกาลด้วยตัวเลขนี้ ขณะที่การส่งออกเริ่มมีปัญหาจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในปัจจุบัน ด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นผู้ซื้อหลัก มีการซื้อหน้าท่าเรือสูงขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้สต๊อกหน้าท่าเรือปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 52.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 39.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 37.20 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคากิโลกรัมละ 36.70 ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 34.20 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาลดลง
สัปดาห์นี้ การซื้อขายข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีราคาที่ลดลง โดย ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 436 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 418 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 396 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 375 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาลดลงจากกระสอบละ 1,280 บาท เป็นกระสอบละ 1,230 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาลดลงจากกระสอบละ 1,150 บาท เป็นกระสอบละ 1,090 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคาทรงตัว
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 68-78 บาท ขณะที่มาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาลที่เข้มงวดขึ้น แต่ไม่ได้ครอบคลุมการซื้อขายกลุ่มอาหาร จึงอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลงเล็กน้อย โดยคาดว่าภาวะราคาซื้อขายจะทรงตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยังคงย้ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศเพิ่มความเข้มข้นระบบ Biosecurity ของฟาร์ม เพื่อป้องกันโรค ASF ในระดับสูงสุด
ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,600 บาท (บวก/ลบ 68)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
ภาวะราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ยังยืนราคาที่กิโลกรัมละ 33 บาท โดยการบริโภคเนื้อไก่ในขณะนี้ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา
ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 10.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะยืนอ่อน
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ตรึงราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ที่ฟองละ 3.00 บาท เนื่องจากขณะนี้ความต้องการบริโภคไข่ไก่เพิ่มมากขึ้น จากมาตรการของภาครัฐที่เพิ่มความเข้มงวดให้ทำงาน WFH ให้มากที่สุด และงดรับประทานอาหารที่ร้าน
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะยืนแข็ง
ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF