“บางบริษัทฯ ทำทุกอย่างมาดีหมดเลย แต่มาจบที่บุคคลากร ปรากฎว่าพนักงานที่ทำงาน ไม่ได้ทำตามข้อระเบียบที่กำหนดไว้ ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นตามที่ต้องการ สินค้าก็มีปัญหา อาจเจอเส้นผม เจอแมลง ทำให้สินค้าโดนผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา”
เป็นที่ทราบกันว่า SME เกือบ3 ล้านราย เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของบ้านเรา ซึ่งในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มี SMEจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ออกประกาศฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการโดยตรง
ด้วยเหตุนี้เอง สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย จึงได้ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ตอกย้ำภารกิจ “เซเว่น อีเลฟเว่น กองหนุนSME” โดยจัดงานสัมมนาออนไลน์ “สร้างเถ้าแก่ SME สู่ความยั่งยืน รุ่นที่ 2” มุ่งเน้นให้ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าในตลาด Modern Trade เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับระเบียบหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อทำให้สินค้ามีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนด
งานนี้ได้รับเกียรติจาก น.ส.อินทิรา พฤกษ์รัตนนภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีตอนหนึ่งว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จึงอยากเชิญชวนและขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกท่านต้องกลับไปทบทวนและพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตเพื่อให้มีคุณภาพตามที่กำหนด เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร้องเรียน หรือลูกค้าทิ้งเราไป โดยที่ไม่ได้บอกกล่าว
ขณะที่ปัจจุบันหน่วยงานราชการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น จะเห็นว่ามีกฎหมายใหม่ๆเกิดขึ้นมาหลายฉบับ ซึ่งเอื้ออำนวยหรือให้ความสะดวกกับองค์กรอิสระ เพื่อที่จะตรวจสอบสินค้า อาหารในตลาดได้ ถ้าเจอว่าสินค้าเหล่านั้นมีปัญหาหรือมีอะไรที่ไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถรวมตัวกันแล้วฟ้องร้องได้มากยิ่งขึ้น
ต่อจากนั้น นายเมธาสิทธิ์ ศิลาสิทธิพร ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าเกษตร บมจ.ซีพี ออลล์ มาให้ความรู้ในหัวข้อ “มาตรฐานสินค้าเกษตรกับระบบ GMP โรงคัดบรรจุผัก ผลไม้สดบางชนิด (ป.สธ.ฉบับที่386)” โดยกล่าวว่า ปกติการขายสินค้าเกษตรมีเรื่องการประกันคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในส่วนเซเว่นฯจะดูเรื่องเอกสารด้านคุณภาพ เอกสารอนุญาตการผลิตและจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสถานที่ผลิต (Audit)โรงคัดบรรจุ และเมื่อมีการค้าขายกันแล้ว จะตรวจติดตามสินค้าบนชั้นวางโดยดูในเรื่องของข้อร้องเรียนต่างๆ รวมไปถึงการสุ่มสินค้ามาตรวจสอบด้านคุณภาพ
ส่วนระบบคุณภาพที่ใช้กันอยู่ หลักการของซีพีออลล์จะดูสินค้าเกษตรคือ การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารGMP(Good Manufacturing Practice)รวมไปถึงการดูเรื่องอายุการเก็บรักษา(Shelf life)ของสินค้า รวมไปถึงระบบการสอบย้อนกลับ หรือระบบ“TRACEABILITY” ตลอดจนการจัดการข้อร้องเรียนต่างๆ โดยเน้นด้าน Food Safety และต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับผัก ผลไม้ มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เลขที่ 386 พ.ศ. 2560เรื่อง กําหนดวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาผักหรือผลไม้สดบางชนิด และการแสดงฉลากในเนื้อหาจะมีการกำหนดวิธีผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่เกี่ยวกับ GMP หมายถึงผักและผลไม้สดบางชนิด ไม่ใช่ทุกชนิดที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งตามประกาศสธ.ฉบับนี้ เมื่อเวลาไปยื่นขอเลขอย. ทางอย.ต้องไปตรวจอสอบสถานที่ผลิตด้วย จึงอยากให้ผู้ประกอบการไปศึกษาประกาศดังกล่าวที่จะบอกว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ถ้าทำตามนั้น จะผ่านแน่นอน โดยในมาตรฐาน GMP มีทั้งหมด 6 หมวดด้วยกัน
หมวดที่ 1 เป็นเรื่องของสถานที่ตั้งและสถานที่ผลิต ต้องสะอาดและปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
หมวดที่ 2 เรื่องเครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตง่ายต่อการทำความสะอาดหรือไม่ สามารถทำให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่อาหารได้หรือไม่ ทนต่อการกัดกร่อนได้หรือไม่
หมวดที่ 3 การควบคุมกระบวนการผลิต โปรแกรมการผลิต ต้องมีทะเบียนเกษตรกร และต้องมีทะเบียนผู้รวบรวมผลผลิต
หมวดที่ 4 เรื่องสุขาภิบาลเน้นไปที่การป้องกัน กำจัดสัตว์ และแมลง อย่างเช่นมีเครื่องดักแมลงหรือไม่
หมวดที่ 5 การบำรุงรักษาและการทำความสะอาดจะพูดถึงน้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาในการใช้ในการฆ่าเชื้อต่างๆ ว่ามีการแยกหรือไม่ ในการจัดเก็บและมีผู้ควบคุมหรือไม่
หมวดที่ 6 เรื่องบุคคลากร และสุขลักษณะของผู้ปฎิบัติงาน คนที่มาทำงานเกี่ยวกับอาหารต้องไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจตามประกาศของสธ. และต้องควบคุมการรักษาความสะอาดส่วนบุคคลด้วย
เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญ บางบริษัทฯ ทำทุกอย่างมาดีหมดเลย แต่มาจบที่บุคคลากร ปรากฎว่าพนักงานที่ทำงาน ไม่ได้ทำตามข้อระเบียบที่กำหนดไว้ ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นตามที่ต้องการ สินค้าก็มีปัญหา อาจเจอเส้นผม เจอแมลง ทำให้สินค้าโดนผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา ในส่วนการแสดงฉลากที่ถูกต้อง ต้องมีชื่อสถานที่ผลิต เลขสถานที่ผลิต มีสัญญลักษณ์ ตามที่ อย.กำหนด อย่างเช่นกล้วยแปรรูปที่ขายอยู่ จะมีวันผลิต วันหมดอายุ มีล็อตนัมเบอร์ และระบุว่าควรเก็บที่อุณภูมิที่เท่าไหร่ การแสดงสถานที่เลขที่ผลิต
ทั้งนี้หลังจาก 2 วิทยากรบรรยายเสร็จแล้ว ภาคบ่ายเป็นช่วง SME Clinic เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการSMEได้ปรึกษาพูดคุยโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญของซีพี ออลล์ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการต่างปรึกษาและสอบถามหลายเรื่อง อาทิ ขั้นตอนการขออย. และการตรวจประเมินสถานที่ผลิต ฯลฯ
x