กระทรวงเกษตรฯ จับมือลงนาม MOU กับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิต หวังเพิ่มโอกาสให้ครอบครัวทหาร ประชาชนเข้าถึงสินค้าเกษตรคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม บรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และผลผลิตล้นตลาด เบื้องต้นจัดพื้นที่ขายก่อน 42 จุดใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ
วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ได้มีพิธีลงนามการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือเอ็มโอยู (MOU) การรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและการสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงกลาโหม โดยมีดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม
ร่วมลงนามในพิธีฯ พร้อมด้วยผู้บริหารทั้งสองกระทรวงร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ทองเปลว เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามฯว่า การลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ข้าราชการทหารและครอบครัว รวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ มีโอกาสได้เข้าถึงผลผลิตทางการเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีจุดจำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากกรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนความร่วมมืออื่น ๆ
ทั้งนี้กระทรวงกลาโหม ยินดีรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบในกรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดจกสถานการณ์ต่างๆ และสนับสนุนพื้นที่สำหรับเป็นจุดจำหน่ายและกระจายสินค้าเกษตรในจังหวัดต่างๆ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อจำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตร (Drop Point) และรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกร ตามความต้องการและศักยภาพของหน่วย เช่น ผลผลิตปศุสัตว์ ประมง ผักและผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์นม ไข่ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอื่นๆ เป็นต้น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์
เบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่ที่พร้อมให้การสนับสนุน รวม 42 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาค 25 จังหวัด ตัวอย่างพื้นที่นำร่องของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยกระทรวงเกษตรฯพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพร่วมกับกระทรวงกลาโหม เป็นพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร การจัดการระบบการขนส่งและการจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น
สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ในช่วง 6 เดือนนี้ (กรกฎาคม – ธันวาคม 2564) ได้แก่ ผลไม้-ลำไยสด มะม่วงมหาชนก มะม่วงเขียวมรกต แก้วมังกร พืชผัก-พริก กระเทียม กะหล่ำปลี สินค้าปศุสัตว์-ไข่ไก่ ไข่เป็ด และสินค้าประมง-กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งก้ามกราม ปลากะพง เป็นต้น
โดยได้มอบหมายกรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จัดทำข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร ในปี 2564 ที่ประสงค์ให้กระทรวงกลาโหมรับซื้อและจัดจุดจำหน่าย โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักจัดทำข้อมูลและแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม หากเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ได้โดยตรงอีกด้วย