สศก. หารือร่วมสมาชิกเอเปค ลุยแผนความมั่นคงอาหารภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มู่งสู่ปี 2030

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                   ฉันทานนท์ วรรณเขจร

สศก. หารือร่วมสมาชิกเอเปค เน้น 6 ประเด็นหลัก เดินหน้าลุยแผนความมั่นคงอาหารภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มู่งสู่ปี 2030 ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19  ไทยเล็งผลักดัน Bio – Circular – Green Economy : BCG Economy รวมถึงนโยบาย “3S” ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค และความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค ปี 2565 ต่อไป

      นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (The Food Security Roadmap towards 2030) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สศก. ได้ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี Mr. Philip Houlding ผู้อำนวยการกองนโยบายระหว่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานของนิวซีแลนด์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2564 เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจเพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 สำหรับสมาชิกเอเปคในการพัฒนาการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19

       สำหรับแผนพัฒนาแผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 กำหนดวัตถุประสงค์ 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) เพิ่มการมีอาหารในปริมาณที่เพียงพอมีคุณภาพที่เหมาะสมและมีคุณค่าทางโภชนาการในภูมิภาค 2) ตอบสนองต่อความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) อำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ 4) เพิ่มการมีส่วนร่วมในระบบอาหาร โดยส่งเสริมความก้าวหน้าในการสร้างโอกาสในด้านต่างๆ 5) เพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานอาหารของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และ 6) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน

      หลังจากนั้น ทางนิวซีแลนด์ยังได้กำหนดจัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 4 – 7 พฤษภาคม 2564เพื่อหารือใน 4 หัวข้อหลัก คือ 1) การสร้างความยืดหยุ่นในระบบอาหารของเอเปคเพื่อลดผลกระทบและสามารถรับมือจากแรงกดดัน ความตึงเครียดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ 2) การส่งเสริมระบบอาหารแบบองค์รวมสำหรับ SMEs สตรีและชนพื้นเมือง 3) การเพิ่มผลผลิตประสิทธิภาพและนวัตกรรม และ 4) กำหนดเป้าหมายที่ชาญฉลาดและการติดตามการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางเจ้าภาพนิวซีแลนด์ จะนำผลลัพธ์ที่ได้จากการหารือ และข้อเสนอแนะจากการสัมมนาฯ ไปกำหนดประเด็นสำคัญเพื่อพัฒนาเป็นแผนงานความมั่นคงอาหาร โดยจะมีการรับรองแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ 2030 หรือ ปี พ.ศ. 2573 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่จะถึงต่อไป

      “การประชุมฯ ในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีของไทยในฐานะสมาชิกเอเปคและรองประธานการประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหารเอเปค (APEC Policy Partnership on Food Security Meeting : PPFS) ในปี 2564 อีกทั้งจะเป็นประธาน PPFS ในปี 2565 ในการร่วมพัฒนาแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ให้แล้วเสร็จ ซึ่งประเด็นที่ไทยควรผลักดันเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค ที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio – Circular – Green Economy : BCG Economy รวมถึงนโยบาย “3S” ของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งเรื่อง Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร รวมทั้งการให้ความร่วมมือกับอาเซียนและนานาประเทศ เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจโลกของภาคเกษตร รวมถึงความพร้อมที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปค ปี 2565 ต่อไป” เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย
​​