สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 3-7 พฤษภาคม 2564
ข้าวโพด : ราคาทรงตัว
ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ในสัปดาห์นี้ ทรงตัวที่หาบละ 561 บาท โดยผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 708.5 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่ขยับตัวขึ้นทำสถิติสูงที่สุดในรอบหลายปี จากความกังวลด้านสภาพอากาศในประเทศบราซิลที่ยังคงความแห้งแล้งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิต อีกทั้งสต๊อกข้าวโพดโลกในฤดูกาลปัจจุบันปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้านความคืบหน้าการเพาะปลูกข้าวโพดสหรัฐฯ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานอยู่ที่ 46% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 17% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยห้าปีที่ 36%
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะทรงตัว
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 19.15 บาท การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางฝั่งอเมริกาใต้ยังคงล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ ด้านการเพาะปลูกที่อเมริกาดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงล่าช้ากว่าที่คาดการณ์เช่นกัน ขณะที่ราคาค่าระวางเรือทั่วโลกยังปรับตัวสูงขึ้นทุกสัปดาห์ ประกอบกับสต๊อกในแต่ละประเทศจากที่ประกาศออกมาล่าสุด ยังคงมีปริมาณที่ต่ำ ทำให้ราคาทรงตัวในระดับสูง
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 1,542.25 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 424.40 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน ราคาปรับตัวสูงขึ้น จากสภาพอากาศในพื้นที่เพาะปลูกหลักของสหรัฐฯ ที่ยังคงความแห้งแล้ง โดยพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำฝนเบาบางตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่พื้นที่ทางตอนล่างของมิตเวสท์มีปริมาณน้ำฝนเข้ามาช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของพื้นดินและการเจริญเติบโตของถั่วเหลือง ปัจจุบันเกษตรกรสหรัฐฯ ปลูกถั่วเหลืองไปแล้ว 24% ของพื้นที่ที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ยห้าปีที่อยู่ที่ 11%
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะสูงขึ้น
ปลาป่น : ราคาทรงตัว
ประเทศเปรูเริ่มจับปลาฤดูกาลใหม่แล้ว 1 สัปดาห์ โดยต้องรอติดตามในอีก 2-3 สัปดาห์ว่าจะมีปริมาณการจับปลาได้ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ส่งผลให้ราคาปลาป่นทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ผู้ซื้อหลักอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้จะมีปริมาณซื้อหน้าท่าที่เริ่มปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง
สัปดาห์นี้ ปลาป่นเกรดกุ้ง ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 52.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 39.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 37.20 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคากิโลกรัมละ 36.70 ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 34.20 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาเพิ่มขึ้น
สัปดาห์นี้ ราคาซื้อขายข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังใกล้เสร็จสิ้นแล้ว โดย ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 509 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 518 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 443 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 453 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,450 บาท เป็นกระสอบละ 1,470 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาเพิ่มจากกระสอบละ 1,250 บาท เป็นกระสอบละ 1,280 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคาทรงตัว
ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันพระที่ผ่านมา ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 80 บาท จากมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคเนื้อสุกรลดลง
โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังคงย้ำให้ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มข้นของระบบ Biosecurity ของฟาร์ม เพื่อป้องกันโรค ASF ในระดับสูงสุด
ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,800 บาท (บวก/ลบ 80)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
การบริโภคเนื้อไก่ลดลง จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ การงดนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน 14 วัน ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 33 บาท
ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 10.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคายืนแข็ง
สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร อยู่ที่ฟองละ 2.70 บาท เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ Work From Home เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีปริมาณการซื้อไข่ไก่ไว้สำหรับประกอบอาหารอย่างง่ายๆ เพิ่มมากขึ้น
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว
ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF