เกษตรฯ จับมือจุฬาฯพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร-นวัตกรรม หวังเพิ่มศักยภาพส่งออก รองรับเส้นทางสายใหม่ต้นปีหน้า

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                               อลงกรณ์ พลบุตร

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ฝ่าวิกฤตโควิด19 จับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หารือความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เน้น 3 โครงการ “พัฒนาวัคซีนโควิดจากพืช-พัฒนาการยืดอายุผลไม้ด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์ -พัฒนาบรรจุภัณฑ์ยืดอายุและความสดของผักและผลไม้ ” หวังเพิ่มศักยภาพใหม่ในการส่งออกสินค้าเกษตร ตั้งเป้าต้นปีหน้าเริ่มใช้นวัตกรรมใหม่ ผนึก “พาณิชย์” บุกตลาดจีน รัสเซีย ตะวันออกกลาง เอเซียกลางและยุโรปโดยรถไฟสาย “อีต้าอีลู่” หรือเส้นทางสายไหม

            นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และประธานคณะกรรมการบริหาร AIC (Agritech and Innovation Center) เปิดเผยว่า ตนและคณะจะมีมีการประชุมกับ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทีมวิจัยในวันพรุ่งนี้  เวลา 13.00 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์ AIC ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยเฉพาะ 3 โครงการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการวิจัยและพัฒนา ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาวัคซีนโควิดจากพืชโดยจะเริ่มผลิตวัคซีนโควิดได้ปลายปีนี้ 2. โครงการพัฒนาการยืดอายุผลไม้ด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์ 3. โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยืดอายุและความสดของผัก ผลไม้และสินค้าเกษตร รวมถึง โครงการเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมด้านอื่นๆ เช่น โคนมและผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น

             สำหรับโครงการพัฒนาการยืดอายุผลไม้ด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์และโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Smart Packing) ยืดอายุและความสดของผัก ผลไม้และสินค้าเกษตรจะนำนวัตกรรมใหม่นี้มาใช้กับแผนโลจิสติกส์เกษตรทางเลือกใหม่ในยุคโควิด เช่น การขนส่งระบบรางจากไทยผ่านจีนไปทุกมณฑลของจีน เกาหลี ภูมิภาคเอเชียกลางภูมิภาคตะวันออกกลาง รัสเซีย สแกนดิเนเวีย ยุโรปและอังกฤษ ภายใต้ขบวนรถไฟอีต้าอีลู่ (เส้นทางสายไหม) บนความร่วมมือระหว่าง ไทย-จีน-ลาว-เวียดนามเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

           นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด19 ของแต่ละประเทศทำให้ต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นทั้งทางบกทางน้ำและใช้เวลานานขึ้นในการข้ามแดนตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงสั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาและวางแนวทางโลจิสติกส์ทางเลือกใหม่ๆ ภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” และประกอบกับเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2564 นี้ ไทยจึงเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการขนส่งสินค้าทางรางด้วยเส้นทางนี้ โดยใช้โลจิสติกส์ฮับที่อุดรธานีและหนองคาย ตั้งเป้าเริ่มคิกออฟต้นปีหน้า

        อีกเส้นทางคือการขนส่งระบบรางผ่านด่านผิงเสียงบริเวณพรมแดนเวียดนามกับเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงของจีน ซึางหวังว่าถ้าสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ยืดอายุผลไม้สด เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด ลำไย เงาะ ลองกอง ขนุน ผัก สมุนไพร เป็นต้น จะทำให้มีทางเลือกในการขนส่งที่ถูกลงมีเวลาแน่นอนจากต้นทางถึงปลายทางและใช้เวลาน้อยลงแต่มีช่วงเวลาขายยาวขึ้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าปลีกที่เป็นลูกค้าของไทยทั้งขายแบบออนไลน์และออฟไลน์ และนี่คือการสร้างศักยภาพใหม่ในการส่งออกของไทน