มก.จับมือ อ.ส.ค.ใช้เวลา 5 ปีพัฒนาบุคลากร ดันไทยคือผู้นำการผลิตน้ำนมคุณภาพสูงในภูมิภาคอาเซียน-สากล

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ใช้เวลา 5 ปีพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าประเทศไทยก้าวสู่ผู้นำการผลิตน้ำนมคุณภาพสูงในภูมิภาคอาเซียนและสากล

       ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือ (MOU)ทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรม เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2569 กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ อ.ส.ค. ได้มีความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 – 2564 สร้างผลงานโดดเด่นหลายเรื่องที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมโคนมและนมโคไทยมีความมั่นคง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

      ในระยะเริ่มต้น ปี 2549-2554 ความร่วมมือมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมและความสามารถในการให้ผลผลิตของโคนมไทย ระยะที่สอง ปีพ.ศ.2554 – 2559 เน้นเรื่องการพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนม การพัฒนาการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่พัฒนาและนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้ในเชิงปฏิบัติในการพัฒนาโคนมของเกษตรกร ระยะที่สาม ปีพ.ศ. 2559 – 2564 ขยายขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมวิชาการทุกสาขาด้านโคนมและอุตสาหกรรม โดยขยายตลาดน้ำนมและน้ำเชื้อพันธุ์โคนมที่ผลิตโดยคนไทยให้ไปสู่การยอมรับและใช้ประโยชน์ในระดับสากล รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาบุคลกรและแนะนำเชิงเทคนิคในการผลิตโคนมเชิงการค้า ให้กับราชอาณาจักรภูฏานและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

        สำหรับระยะที่สี ปี พ.ศ. 2564 – 2569 ที่ได้ลงนามความร่วมมือต่ออีกวาระหนึ่ง เป็นระยะเวลา 5 ปี ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อ.ส.ค. จะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ นิสิต และผู้สนใจให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัย สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่ความเป็นผู้นำในการผลิตน้ำนมคุณภาพ หรือ นมพรีเมียมในภูมิภาคอาเซียนและสากล

      ด้าน รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ หัวหน้าทีมงานโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรม ระหว่าง มก. และ อ.ส.ค. กล่าวว่า ผลงานเด่นล่าสุด คือ การพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนมรายตัว ซึ่งทำให้เกิดความแม่นยำในการคัดเลือกโคนมเพิ่มขึ้น เกษตรกรได้โคนม ทดแทนรุ่นใหม่ที่มีพันธุกรรมดีตรงตามความต้องการ ทำให้ลดต้นทุนและได้ผลกำไรจากการผลิตโคนมมากยิ่งขึ้น โดยผลงานนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาโคนมในเอเซีย ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

 

 

 

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ /