แม็คโคร ตั้งเป้าซื้อผัก ผลไม้จากเกษตรกรปีนี้ 2 แสนตัน ล่าสุดร่วมกับพาณิชย์ บุกสวนทั่วไทยรับซื้อผลไม้ฤดูกาลอีกกว่า 7,750 ตัน 

  •  
  •  
  •  
  •  

สยามแม็คโคร เดินหน้าตาพันธกิจสำคัญ “แม็คโคร เคียงข้างเกษตรกรไทย” ตั้งเป้าในปี 2564 จะรับซื้อผักและผลไม้จากเกษตรกรกว่า 200,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% ล่าสุดมลงนาม MOU กับกรมการค้าภายใน และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ฤดูกาลจากเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 7,500 ราย จะสามารถกระจายผลผลิตไม่น้อยกว่า 7,750 ตัน ผ่านทุกช่องทางทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ พร้อมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทยตลอดปี

      นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ผลไม้ตามฤดูกาล มีแนวโน้มออกสู่ตลาดจำนวนมาก  เกษตรกรชาวไร่ชาวสวนต่างเป็นกังวลกับการขายผลผลิต เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร แม็คโคร จึงได้เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้กับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 แม็คโครได้เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออีกครั้ง เพื่อเชื่อมโยงตลาดการกระจายผลผลิตของเกษตรกรไปยังสาขาต่างๆ พร้อมเชื่อมโยงทุกช่องทางทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ของแม็คโคร

       “ในปีนี้แม็คโคร คาดว่าจะช่วยรับซื้อผลไม้ตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง มะม่วง และอื่นๆ เพิ่มขึ้นรวมแล้วประมาณ 7,750 ตัน  ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างน้อย 7,500 ราย  ผลไม้ไทยที่รับซื้อทั้งหมดเราจะนำไปวางจำหน่ายยังสาขาต่างๆ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทย ส่งเสริมผลผลิตของเกษตรกรไปยังกลุ่มลูกค้าของแม็คโคร ที่มีทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ธุรกิจร้านค้าปลีกรายย่อยที่หันมาขายสินค้าอาหารสดสร้างรายได้เพิ่ม รวมถึงลูกค้าทั่วไปที่ให้ความสำคัญกับเลือกซื้อผลไม้ดีมีคุณภาพปลอดภัย” นางศิริพร กล่าว

       อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม็คโครมีพันธกิจสำคัญในการดำเนินธุรกิจก็คือ “แม็คโคร เคียงข้างเกษตรกรไทย” ซึ่งรับซื้อผลผลิต พัฒนาศักยภาพ สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ชาวไร่ชาวสวนไทยได้มีโอกาสเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนอย่างต่อเนื่องทุกปี  โดยในปี 2564  แม็คโครตั้งเป้าหมายการรับซื้อผักและผลไม้จากเกษตรกรกว่า 200,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20%