ชงของบฯอีกเกือบ 5,000 ล้าน ชดเชยให้ชาวสวนยางงวดที่ 5-6

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                              ประยูร อินสกุล

คกก.บริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 มีมติเห็นชอบขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 4,990.435 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยแก่เกษตรกรชาวสวนยางในงวดที่ 5 – 6

     นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่ ครม. มีมติให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ได้มีการกำหนดเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,834,087 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1,142,294 ราย เกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 419,060 ราย และ คนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 272,733 ราย

     ทั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลาการชดเชยรายได้จำนวน 6 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2563 ครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2563 ครั้งที่ 3 เดือนธันวาคม 2563 ครั้งที่ เดือนมกราคม 2564 ครั้งที่ 5 เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และครั้งที่ 6 เดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะมีการจ่ายเงินในเดือนถัดไปในแต่ละครั้ง

     สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการสั่งจ่ายเงินไปแล้ว ในงวดที่ 1 – 4 จำนวน 9,333.321 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ. 64) คิดเป็นร้อยละ 96.04 ของวงเงินงบประมาณเงินชดเชยที่ ครม. อนุมัติ (9,717.995 ล้านบาท) และจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคายางพารามีความผันผวนไม่สอดคล้องกับราคายางที่คาดการณ์ ณ ช่วงเวลาที่จัดทำโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

      อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณประเมินสถานการณ์ราคายาง ณ ปัจจุบัน คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณในการชดเชยส่วนต่างราคาประกันในงวดที่ 5 – 6 วงเงินงบประมาณ 5,265.295 ล้านบาท ซึ่งเกินวงเงินที่เคยได้รับอนุมัติเบื้องต้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 4,990.435 ล้านบาท (แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 4,880.621 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก ภายในวงเงินไม่เกิน 109.814 ล้านบาท)