“ฟรุ้ตบอร์ด” เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2564 ภายใตงบประมาณ 492 ล้านบาท ให้กรมการค้าภายในนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณา เน้นให้เร่งเครื่องบุกตลาด ทั้งออนไลน์ออฟไลน์ ปรับแผนโลจิสติกส์ เพิ่มขนส่งทางรางสู่เอเซียและยุโรป พร้อมปั้นนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ ดึง AIC และ ส.อ.ท.ร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาผลไม้ไทยอย่างยั่งยืน
วันที่ 29 มกราคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 2/2564 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมฟรุ้ทบอร์ดในครั้งนี้มีมติเห็นชอยหลายโครงการอาทิ โครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลไม้ ปี 2564 ,เพิ่มจำนวนครัวเรือนเป้าหมายเกษตรกรในโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย,รับทราบรายงานโครงการกระจายผลไม้ Pre – order และเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 – 2566
สำหรับโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลไม้ ปี 2564 ใช้งบประมาณ 492 ล้านบาท มอบหมายกรมการค้าภายในนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณาให้ความเห็นชอบในต้นเดือนกุมภาพันธ์ต่อไป ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย กิจกรรมสนับสนุนด้าน (1) การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตและการเชื่อมโยงการจำหน่ายช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (2) การเพิ่มช่องการจำหน่าย (3) การรวบรวมรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งออก (4) การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และรณรงค์การบริโภคผลไม้
ทั้งนี้เป็นมาตรการรองรับสำหรับการบริหารจัดการรวมทั้งปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงรุกล่วงหน้า อาทิ ปัญหาผลผลิตออกมาพร้อมกันในช่วงต้นฤดูร้อน ปัญหาโลจิสติกส์ การขนส่งผลไม้ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือจากค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลน ปัญหาแรงงาน และประเด็นความเชื่อมั่นของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีนกรณีการปนเปื้อนโควิด19 ของสินค้าเกษตรที่จีนนำเข้าจากบางประเทศ
ดังนั้นจึงต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) รวมถึงมาตรการเพิ่มการสื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศพร้อมกับประชาสัมพันธ์และทำการตลาดล่วงหน้าออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ยังให้ส่งเสริมการแปรรูปผลไม้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสนับสนุนให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกโดยประสานงานกับศูนย์AIC ทุกจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมขับเคลื่อน
ส่วนการเพิ่มจำนวนครัวเรือนเป้าหมายเกษตรกรในโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 จาก 202,013 ครัวเรือน เป็น 202,173 ครัวเรือน โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 วงเงินงบประมาณ 3,440,049,735 บาท และขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการฯ จากเดิม 31 มกราคม 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อให้การดำเนินการเยียวยาชาวสวนลำไยในส่วนที่ยังตกหล่นครบถ้วนถูกต้องเป็นธรรม โดยจะนำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อไป ส่วนการโอนเงินเยียวยาตามมติครม. 25 สิงหาคมนั้น ธ.ก.ส.รายงานว่าโอนเสร็จแล้วกว่า 99% เหลือเฉพาะเกษตรกรที่ติดขัดปัญหาไม่กี่ร้อยรายจาก 2 แสนราย
ขณะที่โครงการกระจายผลไม้ Pre – order โดย ประธานคณะอนุกรรมการ E- commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤชฐา โภคาสถิต) และการนำเสนอแผนงานของสมาคมทุเรียนไทยในการส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยในช่วงการระบาดของ Covid-19 พร้อมทั้งจัดทำคลิปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคทุเรียนไทย “กินทุเรียนไทย มั่นใจปลอดไวรัส Covid-19” เป็นภาษาจีน-ไทย-อังกฤษ โดยขอให้ช่วยเผยแพร่ในตลาดเป้าหมายด้วย
อย่างไรก็ตามในส่วนของนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วงวิกฤตการณ์ Covid–19 ที่ผ่านมานั้น ในคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/2564 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 – 2566 ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการผลไม้ในระยะปานกลาง (3 ปี) ที่เน้นความสอดคล้องตามยุคสมัยปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่อำนวยความสะดวกมากขึ้นในยุค 4.0 ตลอดจนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID – 19 โดยเน้นช่องทางการซื้อขายออนไลน์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระจายได้สูง เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิถีการขายแบบใหม่ ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางเป็นต้น