ธ.ก.ส. จับมือเคทีซี เปิดช่องทางร้านค้าน้องหอมจัง รับชำระค่าสินค้า-บริการด้วยQR Code ผ่านทาง Alipay

  •  
  •  
  •  
  •  

ธ.ก.ส. จับมือเคทีซี หนุนสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการภาคเกษตร ด้วยการเปิดช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย QR Code กับร้านค้าน้องหอมจังของ ธ.ก.ส. ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของอาลีเพย์ (Alipay) ชี้สามารถครอบคลุมทั้งร้านค้าชุมชนสร้างไทยที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ร้านค้าปลีกชุมชนท่องเที่ยว รถเช่ารถโดยสารและรถทัวร์นำร่อง 500 ร้านค้าทั่วประเทศ เริ่ม 1 พฤศจิกายนนี้

     วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ได้มีพิธีลงนามในสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ “โครงการให้บริการร้านค้ารับชำระ QR Code และ e-Commerce” ระหว่างนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.)กับนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี”หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตรที่เป็นสมาชิกร้านค้าน้องหอมจังของ ธ.ก.ส. ด้วย QR Code ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ของ Alipay  ณ โถงชั้น 2 ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

                                                                        อภิรมย์ สุขประเสริฐ 

     นายอภิรมย์  กล่าวว่า ธ.ก.ส. มุ่งสู่นโยบายการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการขยายโอกาสทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนภาคการเกษตร เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมมือกับเคทีซี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรับชำระด้วย Alipayมากว่า 5 ปี และมียอดรับชำระสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

      เพื่อเปิดช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่เป็นสมาชิกร้านน้องหอมจังของ ธ.ก.ส. ด้วย QR Code ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ของ Alipay เช่น ร้านค้าชุมชนสร้างไทยที่พัก โฮมสเตย์ร้านอาหารร้านขายของที่ระลึกร้านกาแฟร้านค้าปลีกชุมชนท่องเที่ยวรถเช่ารถโดยสาร รถทัวร์และร้านค้าของผู้เข้าร่วมประกวดตามโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด ของธ.ก.ส. โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ ธ.ก.ส. ให้บริการQR Code ของ Alipay แล้ว จึงกำหนดเปิดให้บริการรับชำระผ่าน QR Code ของ Alipay ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563เป็นต้นไปนำร่อง 500 ร้านค้าทั่วประเทศ”

      นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า การผนึกกำลังกันครั้งนี้ จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน สร้างความเข้าใจถึงการปรับตัวของร้านค้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการขายสินค้า และบริการให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยหากมีนโยบายการเปิดประเทศให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติของรัฐบาลด้วยการให้บริการรับชำระผ่าน Alipayซึ่งทั้งสะดวกและปลอดภัย

     ที่สำคัญไม่ต้องพกเงินสดนอกจากนี้ ยังมีโปรโมชัน และงบส่งเสริมการขายให้กับร้านค้าที่สมัครเป็นสมาชิก อีกทั้งลูกค้าผู้ใช้บริการ Alipay App ยังได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ จากการใช้จ่ายผ่าน Alipay App อีกด้วย โดยในปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีร้านค้าน้องหอมจัง จำนวน 185,364 ร้านค้า แบ่งเป็นเกษตรกรจำนวน 184,452  ร้านค้าและนิติบุคคลจำนวน 912 ร้านค้า ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2564 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. กับเคทีซียังมีแผนจะเปิดให้บริการรับชำระผ่าน QR Code ของบัตรเครดิตวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดอีกด้วยซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างการขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้บริการรับชำระผ่าน QR Code ของบัตรเครดิตวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดต่อไป

                                                                 ระเฑียร ศรีมงคล

      ด้านนายระเฑียร กล่าวว่า แนวโน้มการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตในรูปแบบของ QR Code มีการเติบโตต่อเนื่อง ตามกระแสของสังคมไร้เงินสดที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผู้ใช้งาน ซึ่งการจะเป็นแบบนี้ได้ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ร้านค้าต่างๆ มีระบบชำระเงินที่มีมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งเคทีซีเองเป็นหนึ่งในผู้ที่ให้บริการทั้งบัตรเครดิตสำหรับผู้บริโภค และให้บริการระบบชำระเงินรูปแบบต่างๆ สำหรับร้านค้าสมาชิกในคราวเดียวกันโดยในปี 2559 ได้เริ่มให้บริการรับชำระด้วยอาลีเพย์ผู้ให้บริการจ่ายเงินออนไลน์ยอดนิยมของประเทศจีน ภายใต้บริษัทAnt Group เพื่อรองรับชาวจีนที่อาศัยในไทยและกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาในไทย โดยเมื่อสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมาเคทีซีมียอดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยอาลีเพย์ประมาณ 15,600 ล้านบาท

     สำหรับความร่วมมือระหว่างเคทีซีกับธ.ก.ส. ครั้งนี้ เคทีซีจะใช้เทคโนโลยี QR Code Paymentในการเปิดช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่านพร้อมเพย์ (PromptPay) และeWalletของอาลีเพย์ (Alipay)ผนวกเข้ากับแอปพลิเคชัน “ร้านน้องหอมจัง” ของ ธ.ก.ส.เพื่อช่วยส่งเสริมการประกอบกิจการฐานราก และขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็ง อีกทั้งช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระให้กับร้านค้าต่างๆ ของธ.ก.ส. เกือบ 2 แสนร้านค้าทั่วประเทศ ซึ่งมีฐานลูกค้าเป็นคนไทยและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันรวมถึงทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการ โดยร้านค้าสมาชิก “น้องหอมจัง” ของธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความมั่นใจจากระบบรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมรับชำระตามมาตรฐานของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด

     นอกจากนี้ เคทีซียังพร้อมให้บริการเชื่อมต่อระบบชำระเงินออนไลน์ “เพย์เมนท์ เกทเวย์” (Payment Gateway) สำหรับการรับชำระบนเว็บไซต์ของร้านค้าในโครงการ รวมทั้งเปิดช่องทางการจำหน่ายสินค้าบนเว็บไซต์สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ “KTC UShop” เพื่อร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนNew Gen Hug บ้านเกิด อาทิ ร้าน Coco Valley Resortจังหวัดน่าน ร้านตานี (TANEE) ของชุมชนช่างสกุลบายศรี จังหวัดราชบุรี และร้าน The FIGnatureจังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้เครือข่ายร้านค้าน้องหอมจังของธ.ก.ส.อีกด้วย

     อย่างไรก็ตามแม้ว่าการรับชำระด้วยอาลีเพย์อาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน แต่ยังคงมีการทำรายการชำระค่าสินค้าและบริการเข้ามาจากชาวจีนที่อาศัยตามหัวเมืองหลักในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าหากมาตรการเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศได้ตามปกติ โครงการความร่วมมือนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านระบบการชำระเงินที่เข้มแข็งตามมาตรฐานสากล ให้กับร้านค้าในการขายสินค้าและบริการได้อย่างคล่องตัวและสร้างรายได้จากยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

     ส่วนร้านค้าที่สนใจร่วมโครงการรับชำระร้านค้าน้องหอมจังสามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือทาง Call Center โทร. 02-555-0555