นายกฯนำ 2 รัฐมนตรีเกษตรฯ “เฉลิมชัย-มนัญญา” Kick Off โครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน หวังเพิ่มการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ “มนัญญา” แจงดโครงการนี้สิ้นสุดปีงบประมาณ 2565 ใช้น้ำยาง 1.007 ล้านตัน จะช่วยกระดับราคายางพาราได้ไม่น้อยกว่า30 บาท/กิโลกรัม
วันที่ 25 สิงหาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ทางหลวงหมายเลข ๓๒๔๙ ตอนเขาไร่ยา – แพร่งขาหยั่ง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเสาหลักนำทาง และกระบวนการผลิตแผ่นหุ้มแบริเออร์ เป็นอุปกรณ์ด้านการจราจรที่พร้อมสำหรับนำไปติดตั้งบนถนน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน ภายใต้แนวคิด “ยางพาราไทย เพิ่มความปลอดภัยในทุกเส้นทาง” โดยมีการถ่ายทอดสด Live ผ่านโปรแกรม Zoomกับชาวสวนยางในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า จากการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง อุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ซึ่งการลงนามดังกล่าวจะเป็นการซื้อน้ำยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อร่วมมือในการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา ได้แก่ แผ่นธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางจากยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) สำหรับนำไปใช้ประโยชน์เป็นอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยในหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนน และส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง จึงมั่นใจว่าการดำเนินการร่วมกันในครั้งนี้จะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้อีกทางหนึ่ง และสำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงรับรองให้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนดด้วย
ด้าน นางสาวมนัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมของสถาบันเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ คือ 1) มีสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 807 แห่ง มีสมาชิก 223,155 ราย มีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 900,224 ราย พื้นที่ปลูกยางพาราของสมาชิก 3,462,646 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 820,647 ตัน/ปี
2) มีสหกรณ์ทำธุรกิจยางพารา ธุรกิจรวบรวมน้ำยางสด รวบรวมยางก้อนถ้วยแปรรูปยางแผ่นรมควัน แปรรูปยางเครป แปรรูปยางแท่ง และแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 661 แห่ง ปริมาณธุรกิจ 475,258 ตัน/ปี มูลค่า 16,998 ล้านบาท/ปี 3) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) แก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน จำนวน 2 ครั้ง ที่จังหวัดสตูลและจังหวัดจันทบุรี
4) ปัจจุบันสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ที่มีศักยภาพในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) จำนวน 18 แห่ง กำลังการผลิต 1,200 กิโลเมตร/ปี หลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) จำนวน 13 แห่ง กำลังการผลิต 832,800 ต้น/ปี
ทั้งนี้ จะมีการขยายผลให้สหกรณ์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม คาดว่าจะได้รับการเข้าร่วมโครงการจากสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา จำนวน 31 แห่ง สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราได้ 5,384.09 ล้านบาท ซึ่งจากการคาดการณ์ในระยะที่ 1 นี้ จะสามารถรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรได้ 34,481 ตัน และเมื่อคิดตลอดโครงการฯถึงปีงบประมาณ 2565 จะรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรเพื่อใช้ในการผลิตได้ 1.007 ล้านตัน เกิดการจ้างงานในชุมชน และช่วยกระดับราคายางพาราได้ไม่น้อยกว่า30 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นเงินที่เกษตรกรจะได้รับ 30,018 ล้านบาท