สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ วันที่ 13-17 กรกฎาคม 2563
ข้าวโพด : ราคาลด
ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ในสัปดาห์นี้ ปรับขึ้นเป็นหาบละ 540 บาท จากหาบละ 555 บาท โดยขณะนี้เริ่มมีผลผลิตข้าวโพดฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด ทำให้แนวโน้มราคาปรับลดลง
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกันยายน ราคาอยู่ที่ 326.5 เซนต์/บุชเชล โดยมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกหลักของสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยคลายความกังวลเรื่องความแห้งแล้งและช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในดิน ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ประเมินสภาพข้าวโพดที่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก (Good/Excellent) ลดลงมาอยู่ที่ 69% ส่วนรายงานตัวเลขสต๊อกข้าวโพดฤดูกาล 2562/63 อยู่ที่ 2,248 ล้านบุชเชล เพิ่มขึ้น 150 ล้านบุชเชล ส่วนสต๊อกฤดูกาล 2563/64 อยู่ที่ 2,648 ล้านบุชเชล ด้านอุปสงค์มีรายงานการสั่งซื้อข้าวโพดสหรัฐฯ จากจีน 1,762,000 ตัน สำหรับฤดูกาล 2563/64 ซึ่งเป็นยอดขายข้าวโพดมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของสหรัฐฯ
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
กากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 13.95 บาท โดยปริมาณความต้องการซื้อกากถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ปริมาณขายในตลาดยังมีค่อนข้างจำกัด เพราะเป็นช่วงปลายฤดูและกำลังเพาะปลูกใหม่
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม ราคาอยู่ที่ 886.50 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม ราคาอยู่ที่ 285.8 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน ราคาปรับตัวลดลง จากความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีการพิจารณาการเจรจาการตกลงการค้าเฟส 2 เนื่องการจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้น
ปลาป่น : ราคาลดลง
ในสัปดาห์นี้ สถานการณ์ราคาปลาป่นปรับลดลงทุกเบอร์ ยกเว้นเกรดกุ้ง เนื่องจากประเทศเปรูสามารถจับปลาได้เกิน 90% ของโควต้าการจับปลาทั้งหมดแล้ว ทำให้ราคาขายในตลาดปรับลงอย่างต่อเนื่อง ด้านผู้ซื้อหลักอย่างจีน ยังคงเข้าซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะสต๊อกในประเทศค่อนข้างต่ำ
โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 44.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 36.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 35.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 34.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 33.20 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 33.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 32.70 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 31.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 30.20 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะลดลง
ข้าว : ราคาลดลง
ตลาดซื้อขายข้าวต่างประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 494 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 475 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 422 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 420 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาลดลงจากกระสอบละ 1,400 บาท เป็นกระสอบละ 1,350 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ยืนราคาที่กระสอบละ 1,180 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคายืนแข็ง
ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันพระที่ผ่านมา ยืนแข็งที่กิโลกรัมละ 78-79 บาท โดยนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยเป็นระดับราคาที่เกษตรกรทั่วประเทศยืนหยัดให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ให้ราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท เป็นการดูแลค่าครองชีพให้แก่ประชาชน โดยราคาเป็นไปตามกลไกตลาด จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาหมูในประเทศไทยยังคงถูกที่สุดในภูมิภาคนี้
ด้านลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,800 บาท (บวก/ลบ 80)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
การบริโภคเนื้อไก่โดยรวมในสัปดาห์นี้เริ่มทรงตัว โดยมีปัจจัยลบจากฝนที่ตกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 34 บาท
ด้านลูกไก่เนื้อราคาตัวละ 12.50 บาท และลูกไก่ไข่ราคาตัวละ 28.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคาเพิ่มขึ้น
ไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ราคาฟองละ 2.80 บาท โดยเพิ่มขึ้นจากราคาฟองละ 2.60 บาท เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากที่โรงเรียนเปิดภาคเรียน และมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว
ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF