กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ มิตรผล ลุยสร้างต้นแบบสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชในอ้อย เผยปัจจุบันปัจจุบันมีการดำเนินการ ทั้ง ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ ได้กว่า 14 ชนิด
วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธี กับ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ณ โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรีว่า เป้าหมายสำคัญในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธี กับ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ชีววิธีในการควบคุมศัตรูอ้อยและได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องการควบคุมศัตรูอ้อยซึ่งกันและกัน ร่วมกันศึกษาและพัฒนาการใช้ชีวภัณฑ์ให้ควบคุมศัตรูอ้อยได้หลากหลายชนิด
ทั้งนี้วางเป้าหมายให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจัดการศัตรูพืช ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนให้มีความรู้ สามารถผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ และจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน อำเภอละ 2 แห่ง ทุกจังหวัด รวม 1,764 ศูนย์ นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ระหว่างบุคลากร และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการจัดการศัตรูอ้อยกับภาคเอกชน
นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า โรคและแมลงศัตรูอ้อยเป็นสาเหตุหลักให้ผลผลิตอ้อยลดลง เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยตรง ยังมีผลต่อเศรษฐกิจต่อภาพรวมของประเทศ ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีมาโดยตลอด มีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ทำหน้าที่ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติและส่งเสริมการใช้ศัตรูธรรมชาติ ปัจจุบันดำเนินการ ทั้ง ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ ได้กว่า 14 ชนิด เช่น แมลงหางหนีบ ใช้ควบคุมไข่แมลงศัตรูพืชเพลี้ยอ่อนหนอนชนิดต่างๆ แมลงช้างปีกใส ควบคุมเพลี้ยชนิดต่าง ๆ แตนเบียนไข่ทริโคแกรมม่า ใช้ควบคุมศัตรูพืชระยะไข่ เช่น ไข่หนอนกออ้อย ไข่หนอนกระทู้ข้าวโพด เชื้อราเมตาไรเซียม ใช้ควบคุมหนอนกออ้อย, หนอนด้วงหนวดยาวอ้อย เป็นต้น
ด้านนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ รองประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล มีวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรม ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเปลี่ยนวิถีมาทำเกษตรสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ที่ได้การรับรองมาตราฐานระดับโลกอย่าง Bonsucro โดยเน้นการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ส่งเสริมการใช้สารเคมีในไร่อ้อย เช่น พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เปลี่ยนมาใช้ชีววิธีในการควบคุมศัตรูพืช และรณรงค์ส่งเสริมให้ตัดอ้อยสดด้วยการใช้รถตัดอ้อย ซึ่งเป็นแนวทางของการทำเกษตรสมัยใหม่ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธีกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยส่งเสริมและถ่ายทอดแนวทางการทางเกษตรสมัยใหม่ที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันถ่ายทอดความรู้เรื่องการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธีให้แก่เกษตรกร เช่น การใช้แตนเบียนหนอน แตนเบียนไข่ แมลงหางหนีบรวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการทางเกษตรแบบยั่งยืนที่ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น แต่ยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม และยกระดับมาตรฐานให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยด้วยเช่นกัน