“สมคิด”ชี้ ก.ค.นี้ของจริง ภาคธุรกิจทยอยปิดระนาว รัฐอัดฉีดกว่า 3 แสนล้าน ผ่าน ธ.ก.ส.ช่วยภาคเกษตร-เอสเอ็มอี

  •  
  •  
  •  
  •  

ทุกภาคส่วนร่วมรับมือแรงงานกลับถิ่นบ้านเกิดสู่ภาคการเกษตร “สมคิด”ชี้เดือนกรกฎาคมนี้ของจริง ภาคอุตสาหกรรมทยอยปิดกิจการจำนวนมาก รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านผ่าน ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย สนับสนุนโดยตรงกว่า 50,000 หมื่นล้านบาท เป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนจาก ธ.ก.ส.อีก 2.6 แสนล้าน เร่งฟื้นฟูอาชีพและรายได้หลังวิกฤติ COVID-19 แก่เกษตรกร 3 แสนราย หวังสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่คาดว่ากลับคืนสู่ชนบทกว่า 2 แสนราย พร้อมหนุนวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเกษตรอีก 1.6 หมื่นราย สหกรณ์ สถาบันเกษตรกรอีก 7,255 แห่ง ร่วมเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน และความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก

      วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยและโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด พร้อมด้วย ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมปาฐกถาพิเศษ “การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลัง COVID-19” ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมคอนราด แบงคอก ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ พร้อมมอบนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความแข็งแกร่ง โดยมี นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท เดอะ วันเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด พร้อมด้วยเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้บริหาร และพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมงาน

                                                                    ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

     ดร.สมคิด กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมากี่ยุคกี่สมัย แต่ ธ.ก.ส.ไม่เคยเปลี่ยน ทำหน้าที่ช่วยช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรมาตลอด ฉะนั้น ธ.ก.ส.ต้องเหนือการเมือง และการเมืองจะแทรกแซงการทำงานของ ธ.ก.ส.ไม่ได้ อย่างตอนนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาการแร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด คาดว่าว่า จะมีแรงงานกลับสู่ถิ่นบ้านเกิดจำนวนมาก จึงมีคำถามว่า เขากลับไปแล้วเขาจะทำอะไรกิน  ทาง ธ.ก.ส.จึงได้คิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ขึ้นมา ซึ่งคิดตอนนี้การแก้ปัญหาภาคการเกษตรนั้นมาถูกทางแล้ว

     “ผมเชื่อว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะหลังไหลกลับถิ่นราวเดือนกรกฏาคม สถานประกอบการจะทยอยปิดตัวลง เพราะไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้เกิดการว่างงานมาก และส่วนหนึ่งต้องกลับสู่ภาคการเกษตร ซึ่งรัฐบาล ภาคเอกชนได้ร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อรองแรงงานเหล่านี้ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ภาคการเกษตรไทยต้องเปลี่ยน มาสู่เกษตรยุคใหม่ที่ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ต้องมีการรวมกลุ่ม และขับเคลื่อนด้วยระบบสหกรณ์ เพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้ต่อยอดสู่เป็นผู้ประกอบการที่คิดเอง ผลิตเอง และทำการตลาดเอง” ดร.สมคิด กล่าว (ฟังคลิปประกอบ)

                                                                     อภิรมย์ สุขประเสริฐ

      ด้านนายอภิรมย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้สถานประกอบการหยุดกิจการ คนตกงานและต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ส่งผลกระทบต่อรายได้และภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยโดยรวม เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีการตลาด เข้ามาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงการนับสนุนให้เกิดธุรกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ธ.ก.ส.จึงได้ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท ภายใต้โครงการสำคัญ ๆ  ดังนี้

     1.โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 “พึ่งตนเอง” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยตรง จำนวน 10,720 ล้านบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกรจำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว (459 มีกินมีใช้)การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีความเชื่อมั่นในวิถีการเกษตรแบบใหม่ จำนวน 200,000 ราย มาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การพัฒนาและยกระดับศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ สู่เกษตรกรและคนในชนบท จำนวน 1,200 แห่งทั่วประเทศ และพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-learning พร้อมทั้งการศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาทสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาทและสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน100,000 ล้านบาท

      2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน)ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2“พึ่งพากันและกัน” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่งสำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน40,000 ล้านบาท

     3.โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น)ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 3 “เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 21,675  ล้านบาทเพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิตการเชื่อมโยงการตลาด การจัดการขนส่ง การให้บริการทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางประกอบด้วยค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน10,000 ล้านบาทและสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน10,000 ล้านบาท

     นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ถือว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ สู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในด้านการผลิต การซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม โดยคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างธุรกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรและต่อยอดสู่ธุรกิจในชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่ายพร้อมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Enterprise (SE) อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)