เกษตรฯ-คมนาคม จับมือนำยางพาราสร้างถนน-ผลิตอุปกรณ์ด้านการจราจรในหน่วยงานของรัฐ

  •  
  •  
  •  
  •  

เกษตรฯ-คมนาคม จับมือลงนาม MOU เพื่อนำยางพาราจากชาวสวนยางผ่านสหกรณ์ฯ มาผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา กำหนดกรอบดำเนินการ5 ปี หวังเพิ่มมูลค่าและช่วยยกระดับราคาผลผลิตให้กับเกษตรกร

      วันที่ 12 มิถุนายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธรีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง อุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ลงนามในนามกระทรวงเกษตรฯ  ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

        สำหรับการลงนามดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นการซื้อน้ำยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อร่วมมือในการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราได้แก่แผ่นธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางจากยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP)สำหรับนำไปใช้ประโยชน์เป็นอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยในหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนและส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีตั้งแต่วันที่ 12มิถุนายน 2563 – 11 มิถุนายน 2568 และเมื่อครบกำหนดทั้ง 2 หน่วยงานอาจเจรจาตกลงกันเพื่อขยายระยะเวลาการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงนี้ต่อไปได้จึงมั่นใจว่าการดำเนินการร่วมกันในครั้งนี้จะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้อีกทางหนึ่ง

      นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงรับรองให้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด

       อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมของสถาบันเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการโดยปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจยางพารา 661 แห่งซึ่งในปีที่ผ่านมามีการผลิตยางพารารูปแบบต่างๆ ประมาณ 475,058 ตัน/ปี คิดเป็นปริมาณ 57%จากผลผลิตทั้งหมดของสมาชิกสหกรณ์ที่ประกอบอาชีพสวนยางพารา รวม  355,181 ราย ซึ่งมีสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 1,420,724รายทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปช่วยเหลือสถาบันเกษตรกร ทั้งในการด้านพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต

        “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมผลักดันเกษตรกรชาวสวนยางไทยให้ได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือ รวมถึงวัตถุดิบเพื่อขยายกำลังการผลิตให้แก่สหกรณ์สวนยางทั่วประเทศที่ความพร้อมและมีคุณสมบัติเหมาะสมในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากกระทรวงคมนาคม และสามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะลดความสูญเสีย สร้างผลตอบแทนเป็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางไทย ให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ และสร้างความมั่นคงทางอาชีพอย่างยั่งยืน”นายเฉลิมชัย กล่าว