“มนัญญา” เรียกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่สหกรณ์นำเงินไปลงทุนใน บมจ.การบินไทย เพื่อชี้แจงแนวทางการฟื้นฟูการบินไทย ที่ต้องยึดหลักเป็นหนึ่งเดียวในการชำระหนี้อย่างยุติธรรมและเสมอภาคกันทุกราย ตัวแทนกรมบังคับคดีชี้ 11 ข้อต้องห้ามสำหรับเจ้าหนี้ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้
วันที่ 4 มิถุนายน 2563 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดการประชุม เพื่อชี้แจงแนวทางการฟื้นฟูกิจการและการปฏิบัติของเจ้าหนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนสหกรณ์เจ้าหนี้บริษัทการบินไทย ผู้แทนสันนิบาตสหกรร์แห่งประเทศไทย ข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารฝึกอบรมส่วนกลาง สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ รวมทั้งถ่ายทอดผ่าน Conference ไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัด 14 จังหวัด
นางสา่วมนัญญา กล่าวว่า ตามที่ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งศาลนัดไต่สวนและพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 หากคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน จะมีกระบวนการในการจัดทำแผนฯ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ เพื่อกำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม
ในส่วนของสหกรณ์ที่ไปถือหุ้น บมจ.การบินไทน 4 หมื่นล้านบาทนั้น วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้รับความร่วมมือจาก กรมบังคับคดี มาชี้แจงแนวทางในการฟื้นฟูกิจการและการปฏิบัติของเจ้าหนี้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้แทนสหกรณ์เจ้าหนี้สามารถที่จะซักถาม ประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย ที่มาให้ความรู้ เพื่อจะได้ถือปฏิบัติ ให้ถูกต้องและสามารถถ่ายทอดหรือชี้แจงกับสมาชิกได้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความยินดีที่จะรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดแนวทางให้สหกรณ์เจ้าหนี้สามารถดำเนินกิจการ บังเกิดผลดีกับสมาชิกและสร้างความมั่นคงต่อระบบสหกรณ์ ต่อไป
ด้านนายเชษฐ์ชฏิล กาญจนอุดมการณ์ ผู้อำนวยการส่วนกฎหมาย รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีล้มละลาย กรมบังคับคดี กล่าวถึงสถานะปัจจุบันตามคำสั่งศาลเมื่อ วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 คือศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ มีผลดังนี้ คือ
1.ห้ามฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้,2.ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น,3.ห้ามธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 90/4(6) สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
4.ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นขอบด้วยแผนและห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
5.ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการบังคับ
คดีไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดี จะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษา ให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าว
6.ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือ เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคู่สั่งรับคำร้อง ระยะเวลาดังกล่าวศาลอาจขยายได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน
7.ห้ามเจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมาย ยึด หรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น ตามประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.รบ.ประกันสังคม เป็นต้น
8.ห้ามผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ขาย ผู้ให้เช่าติดตามเอาคืนทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ หรือฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์ดังกล่าว และหนี้ซึ่งเกิดจากสัญญาดังกล่าว เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอ จะสั่งเป็นอย่างอื่นหรือหลังจากศาลอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ แล้วมีการ ผิดนัดสองคราวติดต่อกันหรือกระทำผิดสัญญาในข้อสำคัญ
9.ห้ามมิให้ลูกหนี้ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนจำหน่ายจ่ายโอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินนอกจากที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการคำตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไป เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่ง เป็นอย่างอื่น
10.คำสั่งชั่วคราวของศาลที่ให้ยึด อายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ของลูกหนี้ หรือคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับ คำร้องขอ ให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เห็นสมควรสั่งให้ระงับผลบังคับไว้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้
11.ห้ามผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่ ได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการแล้วไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นสองคราวติดต่อกัน แต่ผู้ประกอบการสาธารณูปโภคอาจขอให้ศาลมี คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ได้ตามสมควร ซึ่งทั้งนี้ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ศาลได้นัดไต่สวนและพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม นางสาวปนัดดา สินธุวิสุทธ์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี ชี้แจงถึงการจุดประสงค์ของกฎหมายฟื้นฟูกิจการนั้น เพื่อรักษามูลค่าขององค์กรธุรกิจนั้นทั้งหมดไว้ เป็นหนึ่งเดียวแทนที่จะถูกแยกจำหน่ายเป็นส่วนๆ อีกทั้งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างยุติธรรมเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้หุ้น เจ้าหนี้แรงงาน เจ้าหนี้การค้า เป็นต้น และเพื่อให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปและรักษาสภาพการจ้างงานไว้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสถานะการล้มละลาย ดังนั้นในขณะนี้จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจดังกล่าวต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ อย่างถูกต้อง