ธ.ก.ส.ชี้แจงละเอียดยิบ ผลการดำเนินงาน 7 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านระบบ ธ.ก.ส. ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ การพักชำระหนี้และการสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน SMEs เกษตรโดยมีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และบุคคลในครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า4 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า1.42 ล้านล้านบาท เผยสินเชื่อฉุกเฉิน เป้าหมาย 2 ล้านราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนรับสินเชื่อจำนวน 2,082,967 ราย จ่ายไปแล้วกว่า 2 แสนราย กว่า 2,000 ล้านบาท แจงยอดติดตามทบทวนสิทธิ์ตามมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน”ไปแล้วกว่า 2 แสนราย จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เป้าหมาย 10 ล้านราย จ่ายไปแล้วกว่า 4.72 ล้านราย เป็นเงินกว่า 23,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมสินเชื่อและแผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19อย่างต่อเนื่องโดยมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน แบ่งเป็น 7 มาตรการดังนี้
1) มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในภาพรวม ประกอบด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปลอดชำระต้นเงินใน 3 ปีแรก ให้กับลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ NPL ครอบคลุมทั้งเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการและสถาบัน ระยะเวลาดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 -31 ธันวาคม 2564และยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital)ในการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 3.85 ล้ายราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท
2)มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน โดยพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 3 เดือน โดยอัตโนมัติ(เมษายน – มิถุนายน 2563) ทั้งในส่วนของเกษตรกรและบุคคลทั่วไปทั้งประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 89,735 รายมูลหนี้รวม 32,647 ล้านบาท
3) มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินลูกค้า SMEs แบ่งเป็น 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน (เมษายน – กันยายน 2563)แบบอัตโนมัติทุกรายให้กับ SMEsตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาทและในระหว่างพักชำระหนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ชำระหนี้ ธ.ก.ส.จะคืนดอกเบี้ยร้อยละ 10 ของเงินที่ส่งชำระ (Cash Back) ซึ่งมีลูกค้าSMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 667,928 ราย มูลหนี้รวม 221,104 ล้านบาท
อีกมาตรการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs(Soft Loan ของ ธปท.)เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีเป็นระยะเวลา 2 ปี รัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน 6 เดือนแรกวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้างณวันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยมีผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนสินเชื่อไปแล้วจำนวน 11,341 ราย เป็นจำนวนเงิน 5,564.41 ล้านบาท
4) มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบ ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเมษายน 2563 – มีนาคม 2564 เป็นเวลา 1ปี โดยอัตโนมัติและยังคงชั้นหนี้เดิมของลูกค้าก่อนเข้าโครงการฯให้กับเกษตรกรลูกค้าทุกกลุ่มทั้งที่เป็นเกษตรกรรายคน บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 3,348,378 รายมูลหนี้รวม 1,265,492 ล้านบาท
5) มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกรในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินในครัวเรือน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาทกำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรกนับจากวันกู้ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรให้ความสนใจลงทะเบียนเพื่อรับสินเชื่อแล้วจำนวน 2,082,967รายโดย ธ.ก.ส. ได้นัดหมายลูกค้ามาทำสัญญาและอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 201,573 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า2,000 ล้านบาททั้งนี้ ธ.ก.ส. จะเปิดให้กลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารคัดกรองแล้ว สามารถทำสัญญาอิเล็คทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมาติดต่อที่ ธ.ก.ส. สาขา โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2563
6) มาตรการชดเชยรายได้สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลังโดยจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน)ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้กำหนดให้มีผู้พิทักษ์สิทธิ์จำนวน 5,630 ราย เพื่อทำหน้าที่สอบทานการประกอบอาชีพของผู้ขอทบทวนสิทธิ์ไปแล้วจำนวน 212,987 ราย จากทั้งหมด 218,621 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 97.4
7) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรี รายละ 15,000 บาท โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม – กรกฎาคม2563) จำนวน 10 ล้านรายวงเงินงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาทโดย ธ.ก.ส. ได้ดําเนินการโอนเงินเยียวยาให้เกษตรกรไปแล้วจำนวน4,722,198ราย เป็นเงิน 23,610.98ล้านบาท
นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. ได้เตรียมออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว เพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย1) สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มาก่อน ได้มีเงินทุนประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
2)สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด สำหรับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรมวงเงินรวม 60,000 ล้านบาทและ 3) สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สำหรับเกษตกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำการเกษตรระยะสั้น ปีการผลิต 2563/64วงเงินรวม 100,000 ล้านบาทวงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาททั้งนี้ สินเชื่อทั้ง 3 โครงการอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนอย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. จะเร่งนำเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป
นอกจากนี้ธ.ก.ส. ยังได้เตรียมมาตรการในการฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้า กลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตซึ่ง ธ.ก.ส.มุ่งหวังว่าสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนกว่า 1,000,000 ราย