อัญชนา ตราโช
สศก. เผยผลการดำเนินนโยบาย“ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ขยายช่องทางการตลาดสู่ตลาดออนไลน์ ทำให้เกษตรกรสามารถซื้อขายสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลในเดือนมีนาคม 2563 มียอดขายสินค้าเกษตรกรผ่านออนไลน์พุ่งกว่า 45 ล้านบาท
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนในปี 2563 โดยขยายช่องทางการตลาดสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น เกษตรกรสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ DGTFarm อตก.เดลิเวอรี่ รวมทั้งร่วมกับศูนย์เครือข่ายเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ Lazada ในการจัดอบรมส่งเสริมความรู้เกษตรกรในระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และกลุ่ม Young Smart Farmer เกี่ยวกับการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ ไปจนถึงเทคนิคการโปรโมทสินค้า การบรรจุผลิตภัณฑ์ และขนส่ง
โครงการดังกล่าวได้ช่วยให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ พัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งจากวิกฤตสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จนเกิดปรากฏการณ์ New Normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่ของพฤติกรรมของมนุษย์ได้หันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรได้นำองค์ความรู้ด้านตลาดออนไลน์ที่กระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อน นำมาปรับใช้อย่างเห็นได้ชัด
จากการสำรวจข้อมูลของ สศก. โดยความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง และกรมปศุสัตว์ เพื่อสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์ (Google form) จำนวน 234 แห่งรวม 57 จังหวัด แบ่งเป็น สหกรณ์ต่างๆร้อยละ 70 กลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 11 และที่เหลือเป็นวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และกลุ่มเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โดยพบว่า ช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีสินค้าเกษตรที่จำหน่ายผ่านทางออนไลน์รวมมูลค่า 45.9952 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งมียอดจำหน่ายได้ 36.3664 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 โดยกลุ่มเกษตรกรร้อยละ 57 มียอดจำหน่ายสินค้าเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ส่วนใหญ่กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร มีความตื่นตัวเพื่อเข้าสู่ระบบการตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยร้อยละ 61 มีการวางแผนเตรียมการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกันแล้ว
ส่วนอีกร้อยละ 27 มีการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์มานานกว่า 1 ปี และร้อยละ 12 เพิ่งเริ่มจำหน่ายแบบออนไลน์ในปีนี้ โดยส่วนใหญ่จำหน่ายผ่านแอปพลิเคชั่น Line มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 79 รองลงมาคือ Facebook คิดเป็นร้อยละ 78 ผ่านเว็บไซต์ตลาดสินค้าสหกรณ์ฯ (www.co-opclick.com, www.coopshopth.com) ร้อยละ 19 จำหน่ายผ่าน Lazada ร้อยละ 15 และ Shopee ร้อยละ 10 ซึ่งกลุ่มสินค้าที่จำหน่ายสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ข้าวสาร ผ้า/สิ่งทอ และกลุ่มผลไม้ ทั้งนี้ การค้าออนไลน์นับว่ามีต้นทุนต่ำ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้รวดเร็ว ทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง เกษตรกรจึงสามารถเพิ่มช่องทางการค้าได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงมีการจัดกิจกรรมอบรมทักษะให้แก่กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจการตลาดออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และยังเล็งช่องทางการตลาดออนไลน์ขยายไปสู่แหล่งช้อปปิ้งออนไลน์รายอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งในประเทศไปจนถึงลูกค้าต่างประเทศในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน มีสินค้าเกษตรคุณภาพและมีหลากหลายที่จำหน่ายผ่านออนไลน์ ทั้งกลุ่มพืช พืชผัก สมุนไพร ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ปศุสัตว์ ประมง แมลงเศรษฐกิจ รวมไปถึงกลุ่มของใช้ต่างๆ อาทิ เสื้อผ้า ของตกแต่ง เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับที่มาจากผลผลิตภาคเกษตรคุณภาพดีและได้รับความนิยม และที่สำคัญในช่วงนี้ ยังมีสินค้าผลไม้ตามฤดูกาลหลากชนิดที่ออกสู่ตลาด อาทิ เงาะ ลิ้นจี่ ขนุน ทุเรียน มะม่วง จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมกันอุดหนุนสินค้าเกษตรตามฤดูกาลเพื่อช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด แถมผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายในการจัดส่งสินค้าเกษตรถึงบ้านท่านโดยตรงอีกด้วย