“มนัญญา” ลุยระยอง Kickoff ปล่อยคาราวานรถบรรทุกผลไม้ของสหกรณ์ในภาคตะวันออกสู่สหกรณ์ต้นทางเพื่อกระจายผู้บริโภคทั่วประเทศ ประเดิมก่อน กว่า 32.5 ตัน ยืนยันราคาไม่แตกต่างไปจากแหล่งผลิตมากนัก
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นประธานเปิดโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกรเพื่อรองรับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด – 19 พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวิวัตห์ชัย พันธุ์วา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบล ทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
นางสาวมนัญญา กล่าว่า โครงการฯ นี้ เป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องการผลักดันให้เครือข่ายสหกรณ์ ได้ร่วมกันระบายผลผลิตสู่ผู้บริโภคโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกผลไม้ไปประเทศคู่ค้าได้ เนื่องจากเกิดปัญหาด้านการขนส่ง ทำให้ผลไม้กระจุกตัวและส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนอกจากจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนผลไม้แล้ว ยังผลต่อการธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ที่เป็นองค์กรของเกษตรกรด้วย
ดังนั้น จึงต้องหาทางออกด้วยการสร้างเครือข่ายสหกรณ์ชาวสวนผลไม้กับสหกรณ์ในตลาดปลายทางทั่วประเทศ ร่วมมือกันกระจายผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ ซึ่งคาดว่าฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกในปีนี้จะมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไปผลผลิต จะออกมาพร้อมกันจำนวนมาก ในส่วนของจังหวัดจันทบุรี จะจัดพิธีมอบในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 อีกครั้งหนึ่ง
สำหผลไม้ที่ปล่อยไปในครั้งนี้จากสหกรณ์ต้นทาง 6 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรทุ่งควายกิน จำกัด สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ระยอง จำกัด จังหวัดระยอง สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด จังหวัดจันทบุรี และสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรจังหวัดตราด เป็นมังคุดรวม 32.5 ตัน กระจายโดยรถขนส่งจำนวน 14 คัน ไปส่งให้สหกรณ์ปลายทาง 13 สหกรณ์ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด สหกรณ์นิคมนครชุม จำกัดจังหวัดกำแพงเพชร สหกรณ์วัดจันทร์ จำกัด จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์การเกษตรนนทบุรี จำกัด จังหวัดนนทบุรี สหกรณ์การเกษตรดอนสาร จำกัด จังหวัดชัยภูมิ สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.นครพนม จำกัด จังหวัดนครพนม สหกรณ์การเกษตรกระทุ่มแบน จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว จำกัดจังหวัดสมุทรสาคร สหกรณ์การเกษตรอัมพวา จำกัด สหกรณ์การเกษตรบางคนที จำกัด จังหวัดสมุทรสงคราม สหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทย จำกัด และสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จังหวัดเพชรบุรี
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบโดยรวมกับเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปตลาดต่างประเทศไม่สามารถทำได้เหมือนปีที่ผ่านๆ มา กระทรวงเกษตรฯ จึงจำเป็นต้องใช้ระบบสหกรณ์ ช่วยสหกรณ์ นำผลไม้คุณภาพดี ที่เราเคยส่งออกไปยังต่างประเทศ มาให้คนไทยได้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยใช้กลไกสหกรณ์ต้นทางกับปลายทางร่วมมือกันกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิตและส่งถึงมือผู้บริโภคทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเป็นที่น่ายินดีที่ได้ทราบมาว่า เมื่อเริ่มการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของพ่อค้าในท้องถิ่นได้เร่งเข้ามารับซื้อผลผลิตมากยิ่งขึ้น ทำให้ราคาผลผลิตเริ่มขยับตัวในระดับที่เกษตรกรพึงพอใจ” นางสาวมนัญญา กล่าว
รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า สำหรับผลไม้จากต้นทางถึงปลายในโครงการนี้ ราคาไม่ต่างกันมาก เพราะเจ้าของสวนไม่ต้องแบกภาระต้นทุน สหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามมีข่าวดีช่วงนี้ ทราบมาว่าประเทศจีนเริ่มมีการสั่งผลไม้ไทยมาแล้ว แต่กระนั้นรัฐบาลก็เร่งดำเนินการทุกอย่างเพื่อช่วยเกษตรกรอย่างเต็มที่ โดยภาครัฐได้วางนโยบายและกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ในปีงบประมาณ 2563 โดยจัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต ส่งเสริมการผลิตให้มีคุณภาพในการตรวจและรับรองมาตรฐาน GAP ด้านการรวบรวม จะพัฒนามาตรฐานอาคารรวบรวมของสหกรณ์ให้ได้มาตรฐาน GMP เพื่อเป็นสถานที่ในการรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตของสมาชิก นอกจากนั้นยังได้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ใช้ในการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์ด้วย
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 อนุมัติงบกลาง วงเงิน45 ล้านบาทเศษ สำหรับใช้บริหารจัดการและกระจายผลไม้ผ่านกลไกสหกรณ์ เน้นผลผลิตมังคุดและลำไย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะจัดสรรให้สหกรณ์ต้นทางเป็นค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 1 บาท ค่าชดเชยการขนส่งกิโลกรัมละ 2 บาท ค่าบรรจุภัณฑ์ สำหรับจัดซื้อตระกร้าจำนวน 191,700 ใบ เพื่อขนส่งผลไม้ไปสู่ผู้บริโภคปลายทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นส่วนสหกรณ์ปลายทาง จะได้รับค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 50 สตางค์ สำหรับเป็นค่าขนส่งค่าจ้างคนงานและจัดซื้อถุงใส่ผลไม้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับสหกรณ์ในการกระจายผลผลิตจากสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดอีกด้วย
ล่าสุดขณะนี้มีสหกรณ์ที่รวบรวมผลไม้จากต้นทางสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 84 แห่ง ใน 18 จังหวัด และมีสหกรณ์ปลายทางทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ที่มีศูนย์กระจายสินค้า สหกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ระดับอำเภอและสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่มีศักยภาพในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ โดยมีเป้าหมายในการช่วยกันระบายผลผลิตทั้งมังคุดและลำไย รวม 11,700 ตัน แบ่งเป็นมังคุด 8,500 ตันและลำไย 3,200 ตัน คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้สหกรณ์สามารถกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ และส่งผลต่อเสถียรภาพด้านราคาที่เป็นธรรมกับเกษตรกรชาวสวนผลไม้และผู้บริโภคด้วย