กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ผลงาน “4 ปี เกษตรแบบแปลงใหญ่” ยันเกษตรกรได้ประโยชน์จริง ทำเงินเพิ่มกว่า 3.6 หมื่นล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง

กรมส่งเสริมการเกษตร สุดปลื้มผลการดำเนินงาน “14 ปีเกษตรแปลงใหญ่” ยอมรับเกษตรกรได้ประโยชน์ให้เพียบ เผยรับรองแล้ว  6,888 แปลง มีเกษตรกรได้รับรองมาตรฐานการผลิต 158,904 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต รวม 36,180.25 ล้านบาท แถมตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ยังไปได้สวยประชาชนแห่อุดหนุนเพียบ

     นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า  ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งเน้นให้การรวมกลุ่มเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ เชื่อมโยงถึงผู้ประกอบการ รวมถึงทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจากการการดำเนินงานในภาพรวมระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันได้มีการรับรองแปลงใหญ่แล้ว 6,888 แปลง รวมพื้นที่  6,578,392 ไร่ เกษตรกร 406,755 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2563)

      ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น ปี 2559 จำนวน 593แปลง 39 ชนิดสินค้า เกษตรกร 80,384 ราย พื้นที่ 1,406,176 ไร่  ปี 2560 จำนวน 1,772 แปลง 70 ชนิดสินค้า เกษตรกร 116,018 ราย พื้นที่ 2,005,998 ไร่  ปี 2561 จำนวน 1,582 แปลง 68 ชนิดสินค้า เกษตรกร 75,223 ราย พื้นที่ 1,168,447 ไร่  และปี 2562 จำนวน 1,279 แปลง 89 ชนิดสินค้า เกษตรกร 48,907 ราย พื้นที่ 662,160 ไร่

       นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในด้านการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตแปลงใหญ่สินค้าเกษตรด้านพืช (ไม่รวมนาแปลงใหญ่) ผึ้ง และแมลงเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายรวมจำนวน 1,856 แปลง รวมทั้งในด้านการส่งเสริมการบริหารจัดการแปลงใหญ่ในภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย 

       “จากการบริหารจัดการแปลงใหญ่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดให้มีการจัดเวทีวิเคราะห์ ในปี 2563 เน้นการรับรองแปลงผ่านคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร (Chief of Operation : CoO) และร่วมกับทีมผู้จัดการแปลงและเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ จัดเวทีวิเคราะห์ จัดทำแผนและเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่ม พร้อมทั้งจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานแปลงใหญ่และประเมินผลจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานของกลุ่มในประเด็นต่างๆส่วนด้านสินเชื่อขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว 329 แปลง วงเงิน  1,956,703,991 ล้านบาท ยอดเงินคงเหลือ (เป็นหนี้) 1,755,090,317.37 ล้านบาท”นายเข้มแข็ง กล่าว

        อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยอมรับ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิต รวมมูลค่า 36,180.25 ล้านบาท ส่วนด้านพัฒนาคุณภาพมีเกษตรกรแปลงใหญ่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตสินค้ารวม 158,904 ราย แบ่งเป็นGAP 131,732 ราย เกษตรอินทรีย์ 15,566 รายRSPO (ปาล์มน้ำมัน) 2,850 ราย และPGS กลุ่มรับรองตนเอง 8,756ราย”

         ส่วนในด้านการตลาด ระยะเวลา4 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรสามารถเชื่อมโยงตลาดได้อย่างชัดเจน 3 ประเภทคือ 1) ตลาดข้อตกลงล่วงหน้าเช่น การทำContract Farmingการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การทำ MOU เชื่อมโยงกับผู้ซื้อรวมทั้งตลาด Modern Trade เข้ามารับซื้อผลผลิตถึงจำนวน 876 แปลง2) ตลาดอื่นๆ ที่เน้นผลิตและจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อ ผู้รวบรวม โรงงานแปรรูป ในท้องถิ่นเป็นหลัก จำนวน 5,964 แปลง และ 3)ตลาด Onlineเช่น Facebook ไปรษณีย์ Lazada 24Shopping และอื่นๆ เป็นต้นจำนวน 304 แปลง

        นอกจากนี้ ในด้านตลาดออนไลน์สำหรับเกษตรกรแปลงใหญ่  กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำ“โครงการส่งเสริมตลาดเกษตร online”ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อด้วยการเปิดเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.comขึ้นเมื่อ 29 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาเบื้องต้นมีสินค้าที่รวบรวมมาไว้ในเว็บไซต์ จำนวน 503 รายการ จาก 77 จังหวัด ใน 9 หมวด ได้แก่ ข้าวและธัญพืช ผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม สมุนไพรและเครื่องสำอาง ผ้าและเครื่องแต่งกาย หัตถกรรมและสิ่งประดิษฐ์ และสินค้าอื่นๆ

       ปรากฎว่าได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้บริโภคโดยมียอดจำหน่ายสินค้าช่วงสัปดาห์แรก วันที่ 29 เมษายน- 6 พฤษภาคม มากถึง 4,361,431 บาท หรือเฉลี่ย 56,642 บาทต่อจังหวัด โดยสินค้าที่มียอดสั่งซื้อสูงสุด 10 รายการแรก ได้แก่ 1) ข้าว กข 43 จังหวัดราชบุรี

       2) มะม่วงวาริช จังหวัดสกลนคร 3) มังคุดทิพย์พังงา –มังคุดอินทรีย์ จังหวัดพังงา  4) มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จังหวัดขอนแก่น 5) ต้นพันธุ์ดี อโวคาโด สวนวังพลากร จังหวัดตาก 6) เมล่อน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 7) ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ตรา “สวัสดี” จังหวัดลำพูน 8) กล้วยตาก จังหวัดพิษณุโลก 9) ปลาสลิดแดดเดียว จังหวัดสมุทรปราการ และ 10) เม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูป จังหวัดอุตรดิตถ์

    อีกทั้งจากรายงานของจังหวัด และการสอบถามเกษตรกรในเบื้องต้น เกษตรกรหลายรายมีความเห็นว่า การเข้าร่วมนำเสนอสินค้าใน ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เป็นประโยชน์ ทำให้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น และขอสมัครเข้าร่วมโครงการอีกเป็นจำนวนมาก