ดีเดย์ 30 เม.ย.63 ส่งออกผลไม้ไทยสู่แดนมังกรผ่าน 2 ด่านใหม่ของจีน

  •  
  •  
  •  
  •  

อลงกรณ์ พลบุตร

จีนไฟเขียวให้ไทยส่งสินค้าเกษตรของไทย ผ่าน 2 ด่านใหม่ขนาดใหญ่ “ด่านตงซิน-ด่านรถไฟผิงเสียง” ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ขบวนบรรทุกผลไม้ไทย เริ่มดีเดย์ในวันที่ 30 เมษายน 2560 นี้ และเป็นครั้งแรกที่ได้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีนทางรถไฟฟด้วย

   ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ดำเนินการเจรจากับกระทรวงศุลกากรของจีน หรือ GACCทางการจีนให้เปิดด่านส่งผลไม้จากไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเดิมที่การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศจีนผ่านด่านจุดเดียว ด่านโหย่วอี้กวน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ส่งผลให้สภาพการจราจรแออัดถึงขั้นวิกฤต มีรถติดสะสมยาวหลายกิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลไม้ไทย จนทางการจีนยอมเปิดเพิ่มอีก 2 ด่านคือคือด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่ประมาณปลายเมษายนนี้ ตามที่ “เกษตรทำกิน”ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

       ล่าสุด นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ด่านตงซิง ตั้งอยู่ที่เมืองตงซิง อำเภอฝังเฉิงกั่ง เขตกว่างซีจ้วงฯ อยู่ห่างจากด่านหม่งไก๋ จังหวัดกว๋างนิญ ของเวียดนามเพียง 100 เมตร  ได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเป็นแห่งที่ 2 ของเขตกว่างซีจ้วงฯ ต่อจากด่านโหย่วอี้กวน สามารถรองรับรถบรรทุกสินค้าเข้าออกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อวัน จึงเป็นด่านที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทย ต่อไปไทยจะทยอยขนส่งสินค้าเกษตรผ่านด่านตงซิน แทนด่านโหย่วอี้กวน ซึ่งเชื่อว่าช่วยลดปัญหาและอุปสรรคการขนส่งสินค้าผลไม้ไทยไปจีนได้มากทีเดียว

      ส่วนด่านรถไฟผิงเสียงที่จะเริ่มขนส่งตู้ผลไม้ตู้แรกจากไทยเข้าจีนในวันที่ 30 เมษายน2563นี้ ซึ่งทาง GACC ได้ยืนยันการอนุญาตให้ไทยสามารถนำเข้าผลไม้ผ่านด่านรถไฟผิงเสียงอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ดังนั้น ในปัจจุบันสรุปได้ว่าประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนผ่านเส้นทางขนส่งทางบก ทั้งหมด 4 ด่าน โดย 3 ด่านในเขตกว่างสีฯ ได้แก่ 1) ด่านโหยวอี้กวน 2) ด่านตงซิง 3) ด่านรถไฟผิงเสียง และ 1 ด่านในมณฑลยูนนาน คือ ด่านโม่ฮาน

      นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า  ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นด่านสากลประเภทหนึ่งของจีน เป็นจุดปลายทางของรถไฟเขตกวางสีกับมณฑลหูหนาน ซึ่งเป็นด่านรถไฟชายแดนเพียงแห่งเดียวในเขตกวางสี และเป็นจุดสำคัญของเส้นทางการเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) เข้าออกทางรถไฟของภาคใต้ ที่สำคัญอีกประการ คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา GACC ได้อนุมัติให้ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานด้านการตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้าและรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ควบคุมความเย็นระหว่างประเทศเวียดนามกับประเทศจีน ขณะนี้มีรถไฟวันละ 6 ขบวน ขบวนละประมาณ 15 – 20 ตู้ (ตู้ละ 40 ฟุต) รับขนส่งต่อจากทางบกเป็นทางรถไฟ ออกจากสถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang ประเทศเวียดนาม) ถึงสถานีรถไฟผิงเสียง ประเทศจีน คาดว่า สามารถแบ่งรับตู้ผลไม้ไทย วันละ 60 – 90 ตู้จากด่านโหย่วอี้กวนได้ หรือประมาณ 2,400 – 3,600 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากมีผลไม้จำนวนมาก สามารถเพิ่มปริมาณรถไฟได้ถึงวันละ 8 ขบวน

      สำหรับเส้นทางขนส่งเริ่มต้นจากจังหวัดมุกดาหาร (ไทย) ไปยังสะหวันนะเขตแดนสะหวัน (ลาว) – ลาวบาว – ห่าติ๋ญ – ทัญฮว้า – ฮานอย– หลั่งเซิน (ประเทศเวียดนาม) – สถานีรถไฟด่งดัง (ประเทศเวียดนาม) – ด่านรถไฟผิงเสียง (ประเทศจีน)

       “การอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านดังกล่าว นับเป็นการพลิกโฉมรูปแบบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จากเดิมที่มีเพียงทางรถยนต์ ทางเรือ และทางอากาศเท่านั้น จึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ส่งออกไทย ซึ่งในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) มีความพึ่งพอใจมากและได้กล่าวชื่นชมข้าราชการไทย และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ที่เร่งเจรจา และช่วยประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีนจนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม” นายอลงกรณ์ กล่าว

       ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกผลไม้ไปจีน ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนปริมาณทั้งหมด 266,997 ตัน  โดยผลไม้ไทยที่มีปริมาณส่งออกไปจีนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำไย ทุเรียน มะพร้าวอ่อน ขนุน และมังคุด ในส่วนของการส่งออกทางบกที่ 2 ด่าน คือ ด่านโม่ฮาน และด่านโหย่วอี้กวน เมื่อปี 2562 มีปริมาณการส่งออกรวมจำนวนทั้งสิ้น 723,785 ตัน  มูลค่ารวม 35,368 ล้านบาท

   สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม (รวมปศุสัตว์-ประมง) ปี 2562 มูลค่า 189,844.62 ล้านบาท คิดเป็น 28.12% ของการส่งออกตลาดจีน สินค้าหลัก ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง-ยางพารา-ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง-ข้าว-ไก่สด-กุ้ง-ปลา เฉพาะกลุ่มผักผลไม้สูงถึง 64,535.88 ล้านบาท