กรมส่งเสริมการเกษตร ไขข้อข้องใจ ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ด้านพืช

  •  
  •  
  •  
  •  

       ตอนนี้เกษตรกรส่วนหนึ่งยังไม่ค่อยเข้าใจกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยเลยเสียโอกาสในการที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐกรณี กรณีที่มีเหตุอันจำเป็นที่รัฐจะต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือโดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤตการณืต่าง ๆ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร นั้นก็ได้ไขข้อข้องใจ ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ด้านพืช กับกรมส่งเสริมการเกษตรดังนี้

Q : ทะเบียนเกษตรกร หรือ ทบก. คืออะไร
A : – ข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตรที่แสดงถึงสถานภาพและการประกอบอาชีพการเกษตรของครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรต้องมายื่นแบบ ทบก.01 เพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร
– สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือและได้รับสิทธิ์ต่างๆ ตามมาตรการของรัฐ

Q : การปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร คืออะไร
A : การแจ้งปลูกพืชทุกรอบการผลิต และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร เช่น เปลี่ยน / แก้ไข กิจกรรมการเกษตร หรือ สมาชิกในครัวเรือน

Q : เกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกร
A : บุคคลในครัวเรือนคนใดคนนึง หรือ หลายคนที่ประกอบการเกษตร
ฐานทะเบียนเกษตรกร กำหนดให้ 1 ทะเบียนบ้าน = 1 ครัวเรือน (ตั้งแต่ ต.ค.56 เป็นต้นมา)
ต้องประกอบกิจกรรม ดังนี้
     1) การทํานาหรือทําไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ รวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
     2) การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือการเพาะเห็ด หรือการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป
     3) การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่และมีจํานวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป
     4) การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่
และมีจํานวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป
     5) การเลี้ยงแม่โคนม ตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป
     6) การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
     7) การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 5 ตัวขึ้นไป
      8) การเลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป
      9) การเลี้ยงสัตว์น้ํา หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
      10) การทํานาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
      11) การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
      12) การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่นๆ หมายความว่า การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง
จิ้งหรีด ด้วงสาคูไส้เดือนดิน ชีวภัณฑ์และอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน
      13) ประกอบการเกษตร อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์
ที่กําหนดตาม 1) ถึง 12) และมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทต่อปีขึ้นไป

Q : ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูลอะไรบ้าง
A: มีข้อมูล 9 หมวด
    1. ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน
    2. สมาชิกครัวเรือนและการเป็นสมาชิกองค์กร
    3. การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร
    4. การประกอบกิจกรรมการเกษตร
    5. แหล่งน้ำ
    6. เครืองจักรกลการเกษตร
     7. หนี้สิน
     8. รายได้
    9. การเข้าร่วมโครงการภาครัฐ
* การแจ้งข้อมูลเท็จในทะเบียนเกษตรกร ถือเป็นความผิดทางอาญา ตามมาตรา 137 และ มาตรา 267 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

Q : การขึ้นทะเบียนเกษตรกรต้องทำอย่างไร
A: ครัวเรือนเกษตรกร 1 ครัวเรือน ขอขึ้นทะเบียนได้ 1 คน
    – ยื่นแบบ ทบก. 01 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หลังปลูกพืช 15 วัน > จนท.บันทึกข้อมูล > ตรวจสอบข้อมูล > ติดประกาศในชุมชน 3 วัน > จนท.ยืนยันข้อมูลในระบบ > การขึ้นทะเบียนเกษตรกรสมบูรณ์
    * ช่วง COVID-19 : ยื่นได้ที่ผู้นำชุมชน หรือ อกม . รวมรวบส่งสำนักงานเกษตรอำเภอ และเจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อไป
    * ดาวน์โหลด แบบ ทบก.01 ได้ที่ http://farmer.doae.go.th/farmerforn63-h.pdf
    * แอปพลเคชัน FARMBOOK ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกร รายใหม่ แปลงใหม่ ได้ *

รู้ไหม … เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเกษตรกรอย่างไร
     1. ตรวจสอบข้อมูลบุคคล กับ กระทรวงมหาดไทย
     2. ตรวจสอบข้อมูลเอกสารสิทธิ์ที่ดิน กับ กรมที่ดินและ สปก.
     3. ตรวจสอบทางสังคม ผ่านการติดประกาศข้อมูลในชุมชน หากมีการคัดค้าน มีคณะทำงานระดับหมู่บ้านตรวจสอบพื้นที่วัดพิกัดที่ตั้งแปลง – วัดพื้นที่
     4. วาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล เพื่อป้องกันการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อน (ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 10 ล้านแปลง)

Q : เมื่อใดต้องปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร
A : เมื่อมีการเพาะปลูกพืชทุกรอบ และเมื่อต้องการเปลี่ยนข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร ดังนี้
     – รายใหม่ แปลงใหม่ / รายเดิม แปลงใหม่ :
ยื่นแบบ ทบก.01 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หลังปลูกพืชแล้ว 15 วัน > จนท.บันทึกข้อมูล > ตรวจสอบข้อมูล > ติดประกาศในชุมชน 3 วัน > จนท.ยืนยันข้อมูลในระบบ > การขึ้นทะเบียนเกษตรกรสมบูรณ์
     – รายเดิม แปลงเดิม : สามารถปรับปรุง ผ่าน แอปพลิเคชัน Farmbook

สามารถตรวจสอบสถานะหัวหน้าและสมาชิกครัวเรือนเกษตร ได้ที่ http://farmer.doae.go.th/

Q : สถานภาพในทะเบียนเกษตรกร จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
A : 1. เสียชีวิต
     2. เป็นคนไร้ความสามารถ หรือ เสมือนไร้ความสามารถ
     3. แจ้งยกเลิกประกอบการเกษตร
     4. แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร
     5. ไม่มีการปรับปรุงสถานภาพเลย ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี


(เริ่มใช้ตั้งแต่ 23 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป และมีผลย้อนหลัง สำหรับผู้ไม่มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่ 23 มิ.ย. 60)
    *การใช้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละโครงการ*