“ปลัดอนันต์”สรุปช่วยเหลือเกษตรกรที่กระทบ”โควิด”แล้ว 3 ด้าน วอนทุกหน่วงานช่วยซื้อสินค้าเกษตรไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

ปลัดเกษตรฯ นั่งหัวโต๊ะประชุมผู้ประสานงานศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด19  หารือมาตรการการช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากที่บางส่วนได้ดำเนินไปแล้วทั้งทางก้านหนีสิน สร้างรายได้ และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร วอนทุกหน่วยงานให้สนับสนุนสินค้าเกษตรไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือนร้อน

       นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้ประสานงานศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 (COVID-19) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประมวลสรุปรายงานสถานการณ์ และผลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว เป็นประจำทุกวัน

       ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 7 เม.ย. 63 กระทรวงเกษตรฯ ได้มีมาตรการการช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ด้านหนี้สิน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของสหกรณ์ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ 3 แนวทาง คือ 1. สหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ประสานขอความร่วมมือ ธ.ก.ส. ผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ โดยขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้สหกรณ์ ไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก และขอสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR-1 ต่อปี

        2. สหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ให้ขยายเวลาการชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 31 ต.ค. 63 ซึ่งสหกรณ์จะต้องผ่อนผันขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกผู้กู้เงินจากสหกรณ์ และ 3. กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จะได้รับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระออกไปอีก 1 ปี โดยขยายเวลาชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 64 และกลุ่มเกษตรกรจะต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้ งดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับกับสมาชิกด้วย ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่จะขอขยายเวลาการชำระหนี้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด

อนันต์ สุวรรณรัตน์    

   การสร้างรายได้ ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานดำเนินการจ้างงานแล้ว 16,196 ราย ค่าจ้างแรงงานวันละ 377.85 บาท (รายได้ประมาณ 8,000 บาท/เดือน) ดำเนินการจ้างงานเป็นเวลา 6 เดือน การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัน คือ

      1. กรมประมง ได้เปิดระบบการสั่งจองสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ (Pre Order) ภายใต้ชื่อ “Fisheries Shop” เพื่อเป็นเครื่องมือในการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสด สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน จากเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเกษตรกรสามารถบริหารจัดการสินค้าให้เป็นไปตามคำสั่งซื้อผ่านระบบฯ ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สนใจ สามารถแจ้งความประสงค์ เพื่อสมัครเข้าใช้งานระบบการสั่งจองสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ Fisheries Shop ได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หรือติดต่อสอบถามที่กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง โทร. 0 2579 4496 ในวันและเวลาราชการ และสำหรับประชาชนที่สนใจอุดหนุนสินค้าประมงสามารถเลือกซื้อได้ทางหน้าเว็บไซต์ของกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง หรือแสกน QR Code สั่งจองสินค้าและรับสินค้าได้ ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ในระบบ สอบถามรายละเอียดได้ที่ Call Center โทรศัพท์ 0 2562 0600 – 15 ในวันและเวลาราชการ
2. กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานสหกรณ์การเกษตรกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ ในการจำหน่ายอาหาร และสินค้าเกษตรให้ประชาชน โดยมีศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ 110 แห่ง โดยการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์
www.co-opclick.com และผ่านบริการ taxi รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจกแผ่นพับสินค้าทาง taxi และหากผู้ประกอบการ/เอกชน ต้องการส่งสินค้า สามารถติดต่อกับสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าได้โดยตรง

      3. องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดในยุควิกฤตโควิด-19 โดยเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซของลาซาด้า (LAZADA) และช้อปปี้ (Shopee) เพื่อลดช่องว่างระหว่างผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค กับผู้บริโภค ให้สามารถซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วย และ 4. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จัดพื้นที่จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร โดยตั้งจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค ร่วมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่าน www.ortorkor.com

 

     นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้สนับสนุนสินค้าเกษตรไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือนร้อน โดยการอุดหนุนสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรงและนำไปมอบให้ผู้ที่ได้เสียสละทำหน้าที่ในการป้องกันรักษาสุขภาพของประชาชน ต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ได้เสียสละทำหน้าที่ดังกล่าวอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรคุณภาพดีให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาการจำหน่วยสินค้าไม่ได้ในช่วงนี้ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้แพร่หลายยิ่งขึ้นด้วย

       สำหรับหน่วยงานอื่น ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชน/เกษตรกร/ผู้ประกอบการ โดยสามารถติดต่อผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง E-Mail เว็บไซต์ call center Application หรือช่องทางออนไลน์ ทั้ง Facebook และ Line เป็นต้น