เครือซีพี ตอกย้ำนโยบายสนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษา ชูมิติการศึกษาเพื่อพัฒนาบ้านเกิด สุดภาคภูมิใจกับบัณฑิตรุ่นแรก โครงการทุนการศึกษา “คนน่านไม่ทิ้งกัน” ก้าวแรกสู่ความสำเร็จของลูกหลานเกษตรกรน่าน พลังแห่งความมุ่งมั่น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อไม่นานมานี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย นายจิระศักดิ์ เสงี่ยมกิตติกุล ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดร.มนตรี คงตระกูล คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิต โครงการทุนการศึกษา “คนน่านไม่ทิ้งกัน” รุ่นที่ 1 ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ที่คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จำนวน 10 คน เร็วๆนี้ ณ สำนักงานด้านความยั่งยืน เเละพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.น่าน ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ลูกหลานเกษตรกรในครอบครัวที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน พร้อมส่งเสริมให้นำองค์ความรู้ที่ได้รับกลับมาพัฒนาบ้านเกิดต่อไปในอนาคต
ดร.มนตรี คงตระกูล (กลาง) กล่าวว่า เครือซีพี ร่วมกับจังหวัดน่าน เริ่มดำเนินโครงการทุนการศึกษา“คนน่านไม่ทิ้งกัน”ในปีการศึกษา 2559 โดยสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปีพร้อมที่พักและค่าครองชีพ ที่คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ปีละ 10 ทุน ปัจจุบันมีจำนวน 2 รุ่น โดยเยาวชนผู้ได้รับทุนจะได้เรียนรู้วิชาการเกษตร เทคโนโลยี การจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จริยธรรมในการทำธุรกิจ พร้อมฝึกปฏิบัติงานจริงภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Work based Learning ได้รับการถ่ายทอดเรื่องนวัตกรรมด้านพืชหลากชนิด และเป็นพืชที่มีศักยภาพด้านการตลาด การเรียนรู้การผลิตในฟาร์มเพื่อเพิ่มศักยภาพ ตลอดจนการบริหารจัดการในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อนำองค์ความรู้กลับไปช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตด้านการเกษตรของ จ.น่านต่อไปในอนาคต
นิชธาวัลย์ มีอาจ
ด้าน นายชัยชนะ แซ่โซ้ง หรือ น้องชัย บัณฑิตในโครงการทุนการศึกษา “คนน่านไม่ทิ้งกัน” รุ่นที่ 1 เปิดเผยว่า โครงการนี้ส่งเสริมให้ได้ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กัน ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งในช่วงปีที่ 1- ปีที่ 3 ได้เลือกฝึกปฏิบัติงานตามความสนใจของตัวเอง เพื่อให้ได้เรียนรู้ความต้องการของตัวเองมากขึ้น และในปีที่ 4 ได้ฝึกปฏิบัติงานที่ บริษัท เจียไต๋ จำกัด จ.ศรีสะเกษ โดยรับผิดชอบงานเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพริกปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ หลังจบการศึกษาแล้ว จะนำทักษะต่างๆที่ได้เรียนรู้มาตลอด 4 ปี กลับไปพัฒนาบ้านเกิดและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้านในชุมชนเกี่ยวกับการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้แนวคิดการตลาดนำการผลิต ที่เป็นการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าเกษตร ซึ่งให้ผลดีกว่าการปลูกข้าวโพดหรือพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายป่าเหมือนที่ผ่านมา
นิชธาวัลย์ มีอาจ
ส่วน น.ส.นิชธาวัลย์ มีอาจ หรือ น้องบิว หนึ่งในบัณฑิตในโครงการทุนการศึกษา “คนน่านไม่ทิ้งกัน” รุ่นที่ 1 กล่าวว่า การได้รับทุนในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว แล้ว ยังสามารถนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนด้านการเกษตรแทน ซึ่งการเรียนการสอนตามหลักสูตรของโครงการนี้ มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เน้นเรื่องการจัดการด้านธุรกิจเกษตร ทำให้ระหว่างเรียนมีโอกาสได้ทำงานและมีรายได้ดูแลตัวเองได้ โดยในชั้นปีที่ 3 ได้เลือกไปฝึกปฏิบัติงานที่บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด เกี่ยวกับการปลูกกาแฟเบื้องต้นและทักษะการชิมกาแฟ หรือที่เรียกว่า Q-Grader นักประเมินคุณภาพกาแฟ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต