กระทรวงเกษตรฯเดินหน้าแก้วิกฤตราคาผลไม้ สู้รัสร้าย “โควิด-19” ที่ไม่สามารถส่งออกได้ “มนัญญา”เปิดเกมรุกพลักดันให้กระจายสู่ตลาดภายในประเทศ ล่าสุดดึงเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ลงนาม MOU กับสหกรณ์ด้วยกัน และภาคเอกชน เพื่อนำผลไม้จากแหล่งผลิตสู่ลูกค้า ไปกระจายในพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเตรียมงานจัดกิจกรรมดาวกระจาย รณรงค์ให้คนไทยบริโภคผลไม้ ในตามหัวเมืองใหญ่ รวม 16 จังหวัด 824 อำเภอ คาดภายในในเดือนเมษายน 2563 นี้ผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดราว 2 แสนตัน
วันที่ 9 มีนาคม 2563 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ สหกรณ์เครือข่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ณ โรงแรมนิวแทรเวิลลอดจ์ จังหวัดจันทบุรี และได้ถือโอกาสนี้ร่วมประชุมร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการค้าตลาดผลไม้คุณภาพของสถาบันเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ 2563 กับคณะที่ปรึกษา และนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมทั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดหนักในประเทศจีนและอีกหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ จะส่งผลกระทบกับราคาผลไม้ภาคตะวันออกที่กำลังจะออกตลาดในฤดูร้อนเมษายน-กันยายน 2563 เนื่องจากจะทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอการซื้อ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ลำไย ที่ส่งออกไปจีน ฮ่องกง เวียดนาม ซึ่งตลอดระเวลา 3 ปีที่ผ่านมาส่งออกไป 3 ประเทศนี้ กว่า 1.324 ล้านตัน จากผลผลิตผลไม้ไทยทั้งปี 3 ล้านตัน จึงต้องของบประมาณจากรัฐบาล 414.20 ล้านบาท มาทำงานเชิงรุก อุดหนุนการกระจายผลไม้ไปทั่วประเทศ ด้วยการบริหารจัดการกระจายผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์สู่ผู้บริโภค โดยให้สหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ส่งผลผลิตไปยังสหกรณ์ผู้ซื้อในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคในพื้นที่ โดยจะอุดหนุนค่าบริหารจัดการต้นทางถึงปลายทางประมาณ กก.ละ 4 บาทต่อกิโลกรัม โดยโครงการนี้กำหนดเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายน- กันยายน 2563 เป้าหมายเบื้องต้น 8 หมื่นตัน เพื่อกระตุ้นตลาด
ดังนั้นทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางการค้าผลไม้ร่วมกัน ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ทั่วประเทศไทย กับสหกรณ์เครือข่ายผู้รับซื้อผลไม้จากจังหวัดต่าง ๆ เพื่อนำผลผลิตไปกระจายสู่ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ได้ดำเนินการทำข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์ชาวสวนผลไม้กับห้างโมเดิร์นเทรด ได้แก่ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างเทสโก้โลตัส) บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซนทรัล ฟู้ดรีเทล จำกัด (ท๊อปซูเปอร์มาเก็ต) และบริษัทผู้ส่งออก ได้แก่ บริษัท ริชฟิลด์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด ด้วย
นอกจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัดและระดับอำเภอ 824 อำเภอ ซึ่งในเดือนเมษายน คาดว่าผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดราว 200,000ตัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเข้ามาขับเคลื่อนและช่วยกระจายสินค้าผลผลิตผลไม้อย่างเป็นระบบต่อไป
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จะใช้ระบบสหกรณ์เป็นเครือข่ายกระจายและเชื่อมโยงตลาด จะทำให้มีช่องทางจำหน่ายจัดเจนของสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้โดยกรมจะอุดหนุนค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ตระกร้า รวมแล้วประมาณ 4 บาทต่อกิโลกรัม โดยคาดหวังว่าสหกรณ์จะเข้าไปมีส่วนแบ่งทางการตลาดผลไม้ เป้าหมาย 8 หมื่นตันในเบื้องต้น จะส่งผลให้ราคาอยู่ในระดับที่เกษตรกรพอใจ
นอกจากนั้น ยังได้จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการซื้อผลไม้จากเกษตรกร