ซีพีเอฟ ยันปฎิบัติต่อแรงงานอย่างเสมอภาคไปตามมาตรฐานสากล ยึดหลักสิทธิมนุษยชน

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                            ปริโสทัต ปุณณภุม

 ซีพีเอฟ ยืนยันจ้างแรงงานตามกฎหมายและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ให้แรงงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันและได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการจ้างแรงงานต่างชาติ มีการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าว (MoU) ผ่านตัวแทนจัดหาแรงงานที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายที่ประเทศต้นทางโดยตรง

    นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำความโปรงใสในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการจ้างแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าว ทั้งของบริษัทฯ และคู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานให้ถูกต้องตามกฎหมายและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของคู่ค้าธุรกิจและบริษัทฯ ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
   

      ซีพีเอฟ กำหนดนโยบายรวมถึงแนวปฏิบัติด้านแรงงานไว้อย่างชัดเจน และดำเนินการอย่างเคร่งครัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการจ้างงาน ไม่ให้แรงงานผู้เยาว์ ทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการ รวมถึงส่งผลกระทบต่อการศึกษาภาคบังคับ ไม่สนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับในทุกรูปแบบ และไม่เรียกเก็บเงินหรือเก็บยึดเอกสารประจำตัวใดๆ ของแรงงาน เคารพในความแตกต่างและปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เอื้อประโยชน์หรือลิดรอนสิทธิของแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม อันมีสาเหตุมาจากเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว ศาสนา เพศ อายุ ความพิการหรือทุพพลภาพ แนวคิดทางการเมือง ตลอดจนสถานภาพเกี่ยวกับการสมรส ตลอดจนการป้องกันและแก้ปัญหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ

       ในด้านการบริหารจัดการค่าจ้าง บริษัทฯ จ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งรวมถึงค่าล่วงเวลา และผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน และตรงตามเวลาที่กำหนด และจะไม่หักค่าจ้างแรงงาน เว้นแต่เป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อกฏหมาย มีการกำหนดชั่วโมงการทำงานปกติไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และดูแลให้ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของแรงงานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน คงไว้ และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของแรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมุ่งเน้นการดูแลรักษา ป้องกัน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมของบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎหมาย เป็นต้น

      “บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในทุกมิติ ตลอดจนสนับสนุนให้คู่ค้าธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานแรงงานสากลซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ เพื่อให้มีผลต่อการปฏิบัติที่เชื่อมโยงแบบบูรณาการ ในการผลักดันไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ขอยืนยันว่า บริษัทฯ เรามีการจ้างแรงงานต่างชาติภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าว (MoU) ผ่านตัวแทนจัดหาแรงงานที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายที่ประเทศต้นทางโดยตรง เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการและค่าใช้จ่ายในกระบวนการจ้างแรงงานตั้งแต่ประเทศต้นทาง มีความถูกต้องโปร่งใส  แรงงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างชาติหรือไทย จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม” ” นายปริโสทัต กล่าว

รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบัน ซีพีเอฟ มีการจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่า 13,000 คน จากประเทศกัมพูชาและเมียนมา โดยบริษัทฯ จัดหาล่ามเพื่อช่วยในการสื่อสาร การฝึกอบรมปฐมนิเทศเมื่อเข้าร่วมงาน การฝึกทักษะและอบรมตามขั้นตอนการผลิตอย่างสม่ำเสมอ และยังได้ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation : LPN) จัดตั้ง “ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN เพื่อให้แรงงานทุกคน ทุกเชื้อชาติของบริษัทฯ สามารถแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ร้องเรียน หรือขอความช่วยเหลือผ่านองค์กรกลาง (Neutral  Organization) ตลอดจนจัดให้มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน กฏหมายแรงงานไทย สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับแรงงานอีกด้วย

     นอกจากการปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายด้านการจ้างและการบริหารแรงงานอย่างเคร่งครัดแล้ว นับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา  บริษัทฯ ยังได้ดำเนินกระบวนการตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence : HRDD) ครอบคลุมทุกกลุ่มแรงงาน รวมถึงกลุ่มผู้เปราะบาง (Vunerable Groups) เช่น ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนา หรือ ผู้บกพร่องทางร่างกาย โดยมีการตรวจประเมินฯ ทุกสายธุรกิจในกิจการประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาแนวทางและแนวปฏิบัติต่างๆ  อันจะนำไปสู่การลดความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ บริษัทฯ ดำเนินการตรวจประเมินความเสี่ยงดังกล่าวทุกๆ 3 ปี ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมากระบวนการก็ได้สำเร็จตามเป้าหมายไปแล้ว” นายปริโสทัต กล่าว

        ทั้งนี้ ซีพีเอฟ มีการจัดจ้างและบริหารแรงงานอย่างรับผิดชอบภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนตามข้อกำหนดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization ILO) ข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) แนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP) มาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001) และได้ประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างและการบริหารแรงงานที่สำคัญ อาทิ

     นโยบายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Policy) นโยบายนโยบายด้านการจ้างงาน และการบริหารแรงงาน (Employment and Labour Management Policy) นโยบายการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย (Foreign Labour Hiring in Thailand) ตลอดจนการออกแถลงการณ์ต่อต้านการใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ (Statement on Slavery and Human Trafficking) ซึ่งเป็นแสดงจุดยืนของบริษัทในการต่อต้านการใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนและได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฏหมาย