“ซีพีเอฟ”คว้ารางวัลความยั่งยืนระดับ SAM Silver class ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเป็นครั้งแรก

  •  
  •  
  •  
  •  


 ซีพีเอฟ ได้รับรางวัลความยั่งยืนระดับ SAM Silver class ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ที่แสดงอยู่ใน The Sustainability Year Book 2020 เป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลความยั่งยืนระดับ Bronze Class นับตั้งแต่ปี 2018

     สำหรับเกณฑ์รางวัลแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ SAM Gold Class (คะแนนอยู่ในช่วง 1 % ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) ระดับ SAM Silver Class (คะแนนอยู่ในช่วง 1-5 % ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) และระดับ SAM Bronze Class (คะแนนอยู่ในช่วง 5-10 % ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) ซึ่งสะท้อนถึงการได้รับการยอมรับในการเป็นบริษัทที่มีแนวปฎิบัติด้านความยั่งยืนชั้นนำ มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และความสำเร็จในการได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ประเภท Emerging Market ประจำปี 2562 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

        SAM ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืนระดับโลก ได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) เพื่อจัดอันดับบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้านความอย่างยั่งยืนที่โดดเด่นใน 61 อุตสาหกรรม โดยในปีนี้มีบริษัทกว่า 4,700 บริษัทชั้นนำทั่วโลกได้รับการประเมิน และเมื่อปลายปี 2562 นี้เอง SAM ยังได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ S&P Global เพื่อยกระดับการประเมินด้านความยั่งยืนต่อไปในอนาคต


  วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์
       นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามหลักการความยั่งยืนภายใต้สามเสาหลักคือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ทำให้บริษัทมีความตระหนักและใช้ความสามารถที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และสอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ การผลิตอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

      โดยอาศัยการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลรวมการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่มั่นคง ขณะเดียวกันปัจจัยทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นเสาหลักที่มีส่วนสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทที่ไม่อาจละเลย ดังนั้นบริษัทจึงมีนโยบายให้มีการส่งเสริมความยั่งยืนตามแนวทาง “ESG” ในทุกประเทศที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมถึงการประเมินมูลค่าที่แท้จริงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Impact Valuation) ของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน ธุรกิจสุกร (Contract Farming – Pig Business) เพื่อให้สามารถระบุ วัดผล และประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าเงินได้มากกว่าการวัดผลลัพธ์ด้วยผลิตภัณฑ์ และกำไรที่เกิดขึ้นจากโครงการเท่านั้น

     “ซีพีเอฟได้ประเมินผลกระทบดังกล่าวตามหลักการสากลอย่าง Natural Capital Protocol และ Social Capital Protocol ของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ทำให้บริษัทเข้าใจผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในเชิงมูลค่าเงินที่แท้จริงมากขึ้นและจับต้องได้ ผลดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทสามารถต่อยอดการพัฒนาโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนที่ดีขึ้น พร้อมๆกับการลดผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว” นายวุฒิชัย กล่าว