ก.เกษตรฯ เตรียม Kick off 12 ม.2 ศูนย์ความเป็นเลิศ ตั้งศูนย์ AIC ใน 77 จว.หวังสร้างจุดเปลี่ยนใหม่

  •  
  •  
  •  
  •  

อลงกรณ์ พลบุตร

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจับมือf 12 มหาวิทยาลัย และ  2 ศูนย์ความเป็นเลิศ ตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ เอไอซี วางเป้าในปี 2563 ตั้งได้ 77 แห่ง ภายใต้รูปแบบโครงสร้าง 1 จังหวัด 1 ศูนย์ เน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันใน 6 ภาคี เพื่อ เป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร และสนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด หวังสร้างจุดเปลี่ยนการบริหารจัดการรูปแบบใหม่

       นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯเตรียมจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมกันมือการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ เอไอซี  (Agritech and Innovation Center : AIC) โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญภาคการเกษตร โดยมุ่งหวังในการแก้ไขปัญหาปากท้องและสร้างรายได้ให้ประชาชน ซึ่งพิธีลงนามบันทึกความร่วมกันมือดังกล่าว จะเป็นการลงนามร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ 12 มหาวิทยาลัยและ 2 ศูนย์ความเป็นเลิศ ที่ผ่านการคัดลือกในเบื้องต้น อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น ภายใต้รูปแบบโครงสร้าง 1 จังหวัด 1 ศูนย์ และจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันใน 6 ภาคี คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน

      สำหรับวัตถุประสงค์ของศูนย์ AIC ก่อตั้งเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุน และส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร และเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร และสนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด ตลอดจนผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ มีเป้าหมายในปี 2563 จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฯ ให้แล้วเสร็จ จำนวน 77 ศูนย์ ภายในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด และให้มีศูนย์เครือข่าย AIC ภายในจังหวัด ประกอบด้วย 1) ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้าน เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร และ 2) ศูนย์วิจัย ทดลอง ทดสอบด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร

         ทั้งนี้ ศูนย์ AIC จังหวัด มีอำนาจหน้าที่ คือ 1) เป็นแหล่งรวบรวมเทคโนโลยีทางการเกษตร และภูมิปัญญาทางการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมด้านการเกษตรของจังหวัด 2) บริการองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และสร้างสรรค์ 3) พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์และการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเกษตร 4) ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร 5) จัดอบรมเกษตรกร แหล่งเรียนรู้ และสนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer

       6) ผลักดันเทคโนโลยีทางการเกษตรและนวัตกรรมทางการเกษตร ผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ 7) ออกแบบ และจัดทำแผนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคการเกษตร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และเกษตรกร รวมถึงประสาน อำนวยการ ขับเคลื่อน กำกับ และติดตามประเมินประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนด 8) พัฒนา เสริมสร้างการเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ระดับประเทศและระดับโลกในความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัด และภูมิภาค และ 9) เชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เครือข่าย AIC จังหวัด