เชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ติวเข้ม สารปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหารให้ จนท.ไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

มกอช. เชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น บินตรงไทย ให้ความรู้ เรื่อง สารปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหาร ติดอาวุธให้กับเจ้าหน้าที่ของไทย พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ตามแนวทางสากลอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์

       สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดอบรม เรื่อง กระบวนการจัดการความเสี่ยงของสารปนเปื้อนในอาหาร โดยเชิญ Dr. Yukiko Yamada Senior Advisor of the Ministry of Agriculture, Forestry, and Fisheries of Japan (MAFF) พร้อมคณะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดค่าปริมาณสารปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหาร จากญี่ปุ่น มาบรรยายให้ความรู้ ตอบข้อซักถาม และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ของไทยให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการความเสี่ยง ตามหลักการและแนวทางสากลอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์ โดยมี กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนภาคการศึกษา และเจ้าหน้าที่ มกอช. ที่เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนาในระหว่างวันที่ 20 – 24 มกราคม 2563 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้น 3 สถาบันเกษตราธิการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

         ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาว่า สารปนเปื้อนในอาหาร เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารที่มีความสำคัญ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพอาหาร และสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission; CAC) หน่วยงานกำหนดมาตรฐานสากล ได้กำหนดแนวทางการจัดการความเสี่ยงสารปนเปื้อนในอาหาร โดยให้ดำเนินการบนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย หรือการเลือกแนวทางในการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงด้วย ซึ่งประเทศไทยนั้น สารปนเปื้อนในอาหาร อยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานด้านสินค้าเกษตรและอาหารต่างๆ หลายหน่วยงาน และแต่ละหน่วยงานดำเนินการตามขอบเขตภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ จึงทำให้แต่ละหน่วยงานยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลและทำงานแบบบูรณาการร่วม รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติและนโยบายยังไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันด้วย

        มกอช. จึงได้จัดการอบรมเรื่อง “กระบวนการจัดการความเสี่ยงของสารปนเปื้อนในอาหาร” เพื่อเสริมสร้างให้บุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสินค้าเกษตรและอาหารของไทย มีความรู้ และความเข้าใจ ในหลักการและแนวทางสากลของกระบวนการจัดการความเสี่ยงของสารปนเปื้อนในอาหาร รวมถึงจะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรของหน่วยงานด้านสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ให้มีความใกล้ชิด และหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกลไกการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายความปลอดภัยอาหารของประเทศและระดับสากลในอนาคต

      ดร.จูอะดี กล่าวต่อไปว่า การอบรมดังกล่าว มกอช. ได้เชิญ Dr. Yukiko Yamada Senior Advisor of the Ministry of Agriculture, Forestry, and Fisheries of Japan (MAFF) Mr. Kazuhiro Sakamoto Associate Director, Food Safety and Consumer Policy Division, Food Safety and Consumer Affairs Bureau, MAFF และ MR. YOSHIYUKI TAKAGISHI Associate Director, Food Safety and Consumer Policy Division, Food Safety and Consumer Affairs Bureau, MAFF ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดค่าปริมาณสารปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหาร จากญี่ปุ่น มาเป็นวิทยากร บรรยาย ให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ซึ่ง เป็นความร่วมมือทางวิชาการที่ มกอช. ได้เสนอในการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ครั้งที่ 9 และฝ่ายญี่ปุ่นเห็นชอบในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรให้แก่เจ้าหน้าที่ของไทย

     ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีกลไกในการจัดการความเสี่ยงสารปนเปื้อนที่มีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานกลางด้านความปลอดภัยอาหาร คือ สำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัยอาหารแห่งญี่ปุ่น เป็นผู้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงตามหลักวิทยาศาสตร์ และส่งต่อผลการประเมินให้หน่วยงานจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งกลไกนี้ทำให้หน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมีความชัดเจน และการจัดการความเสี่ยงของแต่ละหน่วยงานมีความสอดคล้องและเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์

     นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ด้านกระบวนการจัดการความเสี่ยงให้แก่ต่างประเทศเป็นอย่างดี ตามที่ญี่ปุ่นได้จัดการฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อดังกล่าว ให้แก่เจ้าหน้าที่จากประเทศในภูมิภาค ASEAN เพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารของแต่ละประเทศมาโดยตลอด ดร.จูอะดี กล่าว