5 พันธมิตรเกษตรผนึกกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  


5 พันธมิตรในวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล “สำนักงานคณะกรรมการอ้อยฯ-สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลฯ- สมาคมเกษตรปลอดภัย – ไทยชูการ์ มิลเลอร์-ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น” ผนึกกำลังดันโครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” เพื่อยกระดับองค์ความรู้และนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมอ้อยและ ทั้งระดับฟาร์มและระดับโรงงาน ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล

        เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยโครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ”ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สมาคมเกษตรปลอดภัย บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด และบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด  เพื่อยกระดับองค์ความรู้และนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมอ้อยและ ทั้งระดับฟาร์มและระดับโรงงาน ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล

        นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประธานเปิดงานและร่วมลงนามความร่วมมือโครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยบนความท้าทายในเวทีโลก ท่ามกลางพันธมิตรภาคเกษตรกรรมไทย ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานกรรมการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด และนายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ประเทศไทย

         ด้านดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ส่งออกเป็นลำดับ 3 รองจากยางพาราและข้าว มีขนาดพื้นที่เพาะปลูกอ้อยรวมกว่า 11 ล้านไร่ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยกว่า 430,000 ครัวเรือน คิดเป็นเกษตรกรกว่าล้านราย สร้างรายได้สูงเกือบ 300,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากอ้อย เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล กระดาษ ปุ๋ย อาหาร เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

        ขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีบทบาทสำคัญสูง แต่ปัจจุบันกลับประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งในด้านระบบการผลิต ความแปรปรวนของผลผลิตจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาอ้อย การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการแข่งขันทางการค้าโลก ส่งผลกระทบไปทุกระดับในห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น การประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต เกษตรกร โรงงานอุตสาหกรรม รัฐและเอกชน จึงเป็นทางออกสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้มีความยั่งยืน

          โครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” หรือ Social Health Environment Economic Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane) เป็นการดำเนินงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทั้งระดับฟาร์มและโรงงานที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล พร้อมยกระดับสู่สากลในมาตรฐาน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสังคม (S-Social) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯมีความสุข 2) ด้านสุขภาพ (H-Health) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี 3) ด้านสิ่งแวดล้อม (E-Environment) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯใส่ใจสิ่งแวดล้อม 4) ด้านเศรษฐกิจ (E-Economics) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ มีความเป็นอยู่ที่ดี 5) ด้านพันธมิตร (P-Partnership) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

       “แต่ละหน่วยงานต่างตกลงร่วมมือกันตามบทบาทและความเชี่ยวชาญ โดยสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์กลางประสานงาน รวบรวมนักวิชาการ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยและทดลองให้มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลดีขึ้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล รับผิดชอบส่งเสริมงานวิจัย หลักดันนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และปรับปรุงกฎระเบียบให้เหมาะสม สมาคมเกษตรปลอดภัย สนับสนุนด้านวิทยากร สร้างความรู้ พัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้เกษตรกรและทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ สร้างโรงเรียนอ้อยโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร บริษัท ซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด ประสานความร่วมระหว่างสมาคมโรงงานน้ำตาลและโรงงานอ้อยทั่วประเทศ เพื่อนำแนวทางไปประยุกต์ปรับใช้และเผยแพร่ความรู้ไปสู่บุคลากรในวงการ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด สนับสนุนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย” ดร. กิตติ กล่าว