“ประภัตร” ประกาศสนับสนุนให้มีการยกระดับมาตรฐานปางช้างในประเทศไทย ชี้ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติที่ดี การเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพช้างและหลักสวัสดิภาพสัตว์ ขณะที่ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบปรับปรุงมาตรฐานสินค้าเกษตร-ปศุสัตว์ 12 เรื่อง
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2/2562 เพื่อพิจารณาหารือร่างกฎหมายลำดับรองที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 จำนวน 7 ฉบับ และการยกร่างปรับปรุงมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยมีนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานราชการและภาคเอกชนร่วมประชุมว่า คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ได้เห็นชอบกับมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกสุนัข และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกสุนัข
ทั้งนี้ เป็นมาตรฐานสมัครใจ ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ครอบคลุมข้อกำหนดที่สำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกสุนัขที่เลี้ยง (คอกสุนัขที่ซื้อลูกสุนัขมาเลี้ยงเพื่อจำหน่าย) และ/หรือเพาะพันธุ์สุนัข (คอกสุนัขที่มีพ่อแม่พันธุ์และเพาะพันธุ์ลูกสุนัขจำหน่าย) เพื่อการค้า เพื่อให้สุนัขมีสุขภาพและคุณภาพดี โดยมาตรฐานฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการยกระดับคุณภาพของการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกสุนัขเชิงการค้า และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรง สุขอนามัยดี อีกทั้งมาตรฐานจะช่วยลดปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์และด้านสาธารณสุข เช่น โรคพิษสุนัขบ้าเป็นต้น
นายประภัตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยมีปางช้าง จำนวน 250 แห่ง ซึ่งมีการทำธุรกิจ เช่น การแสดงช้างหรือการนำเที่ยวในปางช้าง โดยปางช้างส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยคำนึงถึงเรื่องสุขภาพช้างและหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม จึงสนับสนุนให้มีการยกระดับมาตรฐานปางช้างของประเทศไทย
ด้าน นางสาวจูอะดี กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานฉบับใหม่และที่ต้องแก้ไขปรับปรุงฉบับเดิมรวมทั้งสิ้น 12 เรื่อง ได้แก่ 1.ทะลายปาล์มน้ำมัน (ทบทวน) 2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับยางพารา เล่ม 1 : การผลิตน้ำยางสด 4.ระเบียบการวินิจฉัย Potato mop-top virus ในมันฝรั่ง 5.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม 6.แนวปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม
7.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกสุนัข 8.แนวปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกสุนัข 9.การชันสูตรโรคแคมพิโลแบกเตอร์ในสัตว์ปีก 10.แนวปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การชันสูตรโรคแคมพิโลแบกเตอร์ในสัตว์ปีก 11.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์และอนุบาลจระเข้ และ12.แนวปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์และอนุบาลจระเข้
นางสาวจูอะดี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบร่างอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ พ.ศ. …. 2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเครื่องหมาย การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตร พ.ศ. …. 3.ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานบังคับ พ.ศ. …. 4.ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป พ.ศ. …. 5.ร่างประกาศคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้า เกษตรตามมาตรฐานบังคับ
6.ร่างประกาศคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงหลักฐานการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรนำเข้าที่มีประกาศ ยกเว้นไม่ต้องได้รับใบรับรองจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน และ7.ร่างประกาศคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ความเห็นชอบผู้ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของต่างประเทศที่มีมาตรฐานแตกต่างจากมาตรฐานบังคับ