รมช.พาณิชย์’ เดินหน้าใช้ FTA ดันผู้ประกอบการนมโคแปรรูปบุกตลาดโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

‘วีรศักดิ์’ คิกออฟโครงการ “จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ” หวังใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ช่วยอุตสาหกรรมสินค้าโคนม และนมโคแปรรูปของไทยให้แข่งขันได้ ดึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์นมโคแปรรูปของไทยสู่ตลาดโลก

         นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานในงานเปิดตัวโครงการ “จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ” และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU ระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมแปรรูปของไทย กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ คือ การช่วยสินค้าเกษตรของไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ และเห็นว่าอุตสาหกรรมสินค้าโคนม และนมโคแปรรูปของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีศักยภาพ จึงมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตรียมความพร้อมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายโอกาสการส่งออกให้กับนม และผลิตภัณฑ์นมของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมโคในภูมิภาค ทำให้อุตสาหกรรมสินค้าโคนมไทยมีศักยภาพแข่งขันได้ในตลาดโลก

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU ระหว่างผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ด้วย เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์โคนมแปรรูป และช่วยผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดส่งออกได้อย่างมั่นคง โดยปัจจุบันประเทศคู่ค้าเอฟทีเอหลายประเทศของไทย อาทิ อาเซียน และจีน ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์นมโค อาทิ นมพร้อมดื่ม โยเกิร์ต และเนย ที่ส่งออกจากไทยแล้ว และไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมหลายชนิด เช่น นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนย นมข้นหวาน เป็นต้น ไปยังตลาดอาเซียน และจีน โดยในปี 2561 มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทยคิดเป็น 480 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตรามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

         ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้านมโคแปรรูปประเภทต่างๆ เช่น โยเกิร์ต นมยูเอชที นมสดพาสเจอร์ไรส์ ไอศกรีม เนยแข็ง นมอัดเม็ด เป็นต้น จำนวน 10 ราย จากผู้สมัคร 54 ราย เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น (1) ใช้นมโคภายในประเทศเป็นหลัก (2) ใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า (3) สินค้ามีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด มีศักยภาพส่งออก (4) เป็นสินค้าแปลกใหม่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และ (5) เน้นกลยุทธ์การค้าระยะยาว เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับคำปรึกษาเชิงลึก (Coaching) เรื่องการเพิ่มศักยภาพการผลิต และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงจะได้ร่วมอบรม Boot Camp เน้นการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี เพื่อเข้าสู่ตลาดประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ และสร้างความเข้าใจในตลาดของสินค้าเป้าหมาย

         หลังจากนั้นจะพาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า สำรวจตลาดค้าปลีก จับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้ประกอบการ ผู้นำเข้าในประเทศอาเซียน ซึ่งครั้งนี้จะไปชมงานแสดงสินค้าที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ประชาชนนิยมบริโภคสินค้าที่หลากหลาย และนิยมสินค้าอาหารพรีเมี่ยม ที่จะช่วยกระตุ้นการยกระดับพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

         สำหรับโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการฯ คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยได้รับองค์ความรู้ในหลายมิติ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีให้มากที่สุด รวมทั้งสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการของไทยกับผู้นำเข้าตลาดเป้าหมาย ได้มากขึ้น