“คูโบต้า”โชว์สุดยอดสมรรถนะแทรกเตอร์อัจฉริยะ KUBOTA Agri Robo Tractor รุ่น SL60A ไร้คนขับ(มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

สยามคูโบต้า ตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน และผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต พร้อมบริษัท คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ร่วมกับ JICA) และ GISTDA จัดสาธิตโชว์ประสิทธิภาพและสมรรถนะ “KUBOTA Agri Robo Tractor” รุ่น “SL60A” แทรกเตอร์อัจฉริยะ ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไร้คนขับ  เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพความแม่นยำขั้นสูงของระบบเครือข่ายเสารับมาตรฐาน ที่ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมนำทาง GNSS จากญี่ปุ่น หวังพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการเกษตรของไทย ณ คูโบต้า ฟาร์ม จังหวัดชลบุรี

            วันที่ 8 สิงหาคม 2562 บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จจำกัดผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน และผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต พร้อมด้วยบริษัท คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA ได้มีการจัดสาธิตประสิทธิภาพการทำงานของ KUBOTA Agri Robo Tractor รุ่น SL60A แทรกเตอร์อัจฉริยะ ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไร้คนขับ  เพื่อทดสอบประสิทธิภาพความแม่นยำขั้นสูงของระบบเครือข่ายเสารับสัญญาณมาตรฐาน (Base Station) โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมนำทาง GNSS จากญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการเกษตรของไทย ณ คูโบต้า ฟาร์ม จังหวัดชลบุรี นับเป็นการสาธิตอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกที่นอกเหนือไปจากการทดลองในประเทศญี่ปุ่น

          นายฮิโรโตะ คิมุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด  กล่าวว่า จากความสำเร็จในความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในการทดสอบใช้เครื่องปลูกมันสำปะหลังโดยใช้เทคโนโลยี Auto Steering ตั้งแต่ปี 2560 คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) จึงได้ต่อยอดการร่วมทำวิจัย ภายใต้ชื่อโครงการSocial experiment using high-precision positioning data in Thailand สาขาเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ร่วมกับองค์กร JICA ของญี่ปุ่น และ องค์กร GISTDA ของไทย เพื่อทดสอบประสิทธิภาพความแม่นยำขั้นสูงของระบบเครือข่ายเสารับสัญญาณมาตรฐาน (Base Station) โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมนำทาง GNSS ในเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย  เพื่อผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้บริหารจัดการฟาร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรแม่นยำ Precision Farming ในยุคเกษตร 4.0  ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคการเกษตรในระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร

          สำหรับแทรกเตอร์อัจฉริยะ ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไร้คนขับรุ่น SL60A ถูกพัฒนาขึ้นโดย คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ในเครือคูโบต้ากรุ๊ป เป็นแทรกเตอร์ขนาด 60 แรงม้า ไร้คนขับรุ่นแรกของโลก ซึ่งวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2560 ที่ญี่ปุ่น โดยได้รางวัลระดับนานาชาติมากมาย อาทิ Best 10 New Products Awards จาก Japanese Brand Award of 60th ในปี 2560 Award for Technological Achievement จาก The Japanese Society of Agricultural Machinery & Food Engineer และ FIMA Technical Novelty Award จากประเทศสเปน ในปี 2561

            ด้วยคุณสมบัติการทำงานแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Auto self-driving) ที่ให้เลือกทั้งโหมดอัตโนมัติ (Auto Mode) เดินหน้า ถอยหลัง หยุด และเลี้ยวได้แบบอัตโนมัติ และโหมดเดินหน้า (Linear Mode) เฉพาะเดินหน้าแบบอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้สามารถสับเปลี่ยนการทำงานระหว่าง 2 โหมดได้ตามลักษณะงานที่ทำ สมรรถนะที่โดดเด่นของ SL60A คือระบบการทำงานเก็บหัวงานแปลงนาแบบอัตโนมัติ ที่เหลือระยะเว้นห่างขอบคันนาเพียง 4.4 เมตร รวมทั้งระบบขับเคลื่อนไปยังจุดเริ่มต้นการทำงานแบบอัตโนมัติ (Auto Start Standby) และขับไปยังจุดเริ่มต้นเมื่อเสร็จงาน (Auto Return Starting Position) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานทำงานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับระบบสนับสนุนการทำเกษตรของคูโบต้า หรือ KUBOTA Smart Agri System (KSAS) โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ร่วมกับระบบสารสนเทศ (ICT) ในการบริหารจัดการในทุกขั้นตอน

            อีกทั้งสามารถควบคุมการทำงานระบบนำทางความแม่นยำสูง และตั้งค่าการทำงานผ่านแท็บเล็ตหน้าจอ 10 นิ้ว ที่ทันสมัยโดยจะแสดงข้อมูลบนหน้าจอเป็นสัญลักษณ์และคำอธิบาย เช่น การตั้งขอบเขตพื้นที่ทำงาน การกำหนดเส้นทาง และการติดตามดูแทรกเตอร์ในระหว่างทำงาน สามารถควบคุมแทรกเตอร์จากแท็บเล็ตได้ง่าย อีกทั้งสามารถใช้แทรกเตอร์ไร้คนขับ 1 คัน และแทรกเตอร์ที่มีคนขับ 1 คัน ทำงานคู่กันไป พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่างรอบด้าน ด้วยเซนเซอร์สัญญาณไฟความปลอดภัยรอบคัน มั่นใจกับฟังก์ชั่นหยุดรถอัตโนมัติเมื่อเข้าใกล้คนหรือสิ่งกีดกวาง ตลอดจนสั่งหยุดการทำงานฉุกเฉินได้จากแท็บเล็ตที่ใช้ควบคุม

            นอกจากนี้คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ยังได้พัฒนาระบบ Auto self-driving ในรถเกี่ยวนวดข้าว และรถดำนาอัจฉริยะขับเคลื่อนอัตโนมัติ วางจำหน่ายที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2561 เพื่อรองรับแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรกรรม จากปัญหาอายุเฉลี่ยของเกษตรกรญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น  รวมถึงการขยายขนาดพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งในอนาคตคูโบต้ามีแผนพัฒนาระบบอัตโนมัติ แบบไร้คนขับร่วมกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลอื่นของคูโบต้าแบบครบวงจร 

          จากความร่วมมือขององค์กรภาครัฐของไทย และญี่ปุ่น ในการพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง  สยามคูโบต้ามีศักยภาพพร้อมที่เป็นฐานการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร ด้วยงบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท ในการก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาคูโบต้าเอเชีย KUBOTA Research & Development ASIA (KRDA) ตั้งแต่ปี 2559 รองรับมูลค่าการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เติบโตเพิ่มสูงขึ้น สอดรับกับทิศทางการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน ด้วย Smart Agriculture ที่มุ่งสร้างการพัฒนาสินค้า KUBOTA Group สู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก หรือ Global Major Brand

       อย่างไรก็ตาม สำหรับการที่จะนำแทรกเตอร์รุ่นนี้มาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของสภาพภูมิศาสตร์ และความพร้อมด้านระบบสาธารณูโภคว่ามีความเป็นไปได้ขนาดไหน และความต้องการของภาคเกษตรไทยด้วย เนื่องจากราคาค่อนข้างจะสูง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการจำหน่ายในราคาที่สูงกว่ารถแทรกเตอร์ธรรมดา 1.5 เท่าตัว สำหรับประเทศไทยจะพยามให้ส่วนต่างเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ดูองค์ประกอบด้านอื่นด้วย อาทิ ยอดขายรวมเป็นต้น คาดว่าคงอีกราว 5-6 ปีคงจะมีใช้ในประเทศไทยแน่นอน

       ด้านนายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การจัดการสาธิตประสิทธิภาพการทำงานของแทรกเตอร์อะกรีโรโบ ( KUBOTA Agri Robo Tractor) รุ่น SL60A ซึ่งถือว่าเป็นแทรกเตอร์อัจฉริยะ ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไร้คนขับนอกจากจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้วถือว่า เป็นครั้งแรกของโลกก็ว่าได้ ที่นอกเหนือไปจากการทดลองในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เป็นการรองรับความพร้อมตามนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาลด้วย ซึ่งสยามคูโบต้ามีความพร้อมในด้ายเทคโนโลยีการเกษตรอยู่แล้ว ส่วนที่เลือกมาสาธิตในประเทศไทยเป็นประเทศแรกเนื่องจากสภาพการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจในไทยมีส่วนคล้ายกับประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะข้าว (รายละเอียดในคลิป)