กรมประมงแจงปมค่าแรงลูกเรือไทย ถูกลอยแพกลางทะเลโซมาเลีย

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมงแจง ค่าแรง 50 ลูกเรือไทย ถูกลอยแพกลางทะเลโซมาเลียว่า เป็นความรับผิดขอบของนายจ้าง กรณีที่กรมประมงอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศใดก็ตาม เป็นสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐตลาด ระบุกรณีสินค้าสัตว์น้ำจากโซมาเลียมายังประเทศไทยจำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ มีบางอย่างที่น่าสงสัย  จึงต้องขอใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่ แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย

        ตามที่มีผู้ประกอบการบางรายได้มีการนำเสนอข่าว ปัญหาค่าแรง เนื่องจากได้ส่งสินค้าสัตว์น้ำมายังประเทศไทยจำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ปรากฏว่าสินค้า 6 ตู้ที่ยื่น ณ ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจสัตว์น้ำเขต 2 (กรุงเทพมหานคร) ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนตามกฎหมาย แต่กรมประมงได้มีความเห็นขัดแย้ง และขอเอกสารเพิ่มเติมจนเกินขอบเขต และมีปัญหาในการนำเข้าจนถึงปัจจุบัน ส่วนอีก 1 ตู้ ทางด่านตรวจสัตว์น้ำจังหวัดชลบุรี ได้มีพิจารณาออกเอกสารอนุญาตแล้ว แต่กรมประมงได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการอนุญาต หากการนำเข้าได้มีการอนุญาตโดยปกติตามเอกสารการรับรองตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อยจ่ายเงินค่าจ้างการบริหารจัดการที่ทางตนได้วางไว้คงไม่เกิดปัญหาขึ้น การกระทำของกรมประมงส่งผลอย่างมากต่อการทำงานของผู้ประกอบการ และผลต่อแรงงานไทยที่ทำงานในสาขาประมงนั้น

        ล่าสุดนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า การขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจะต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 92 ซึ่งผู้ที่นำเข้าสำหรับการยื่นคำขออนุญาตต้องปฏิบัติตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอหนังสืออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 โดยผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นคำขออนุญาตก่อนการนำเข้า 1 วันทำการ เว้นแต่การนำติดตัวเข้ามาให้ขออนุญาตในวันนำเข้าก็ได้ และการอนุญาตให้มีการนำเข้าได้หรือไม่นั้นเจ้าหน้าที่จะกระทำได้ต่อเมื่อมี ใบรับรองการจับสัตว์น้ำหรือเอกสารอื่นใดที่ แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย

       นายอดิศร กล่าวอีกว่า การพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 เป็นการพิจารณาว่ามีการยื่น เอกสารครบหรือไม่ และขั้นตอนที่ 2 เป็นการพิจารณา ความถูกต้อง ความสอดคล้อง ทั้งจากเอกสารที่มีการยื่นขอและข้อมูลจากแหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายของประเทศ รัฐเจ้าของธง หรือ รัฐชายฝั่ง และหากมีข้อสงสัยเจ้าหน้าที่สามารถขอให้มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ก่อนการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นำเข้า หลักการดังกล่าวนี้ได้นำมาใช้กับสินค้าประมงที่มาจากการจับจากทะเลเป็นสำคัญ

       กรณีของ สัตว์น้ำจากประเทศโซมาเลีย การพิจารณาตรวจสอบในการอนุญาตกรมประมงใช้ข้อกฎหมาย/ข้อกำหนดของสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย ตลอดจนหลักฐานที่เคยมีการยื่นประกอบการพิจารณาการขออนุญาตนำเข้าซึ่งมีการพบข้อสงสัยและไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาในกรณีก่อนหน้านี้มาประกอบการพิจารณาด้วย และจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ได้พบข้อสงสัยหลายประการ และได้แจ้งให้บริษัทดังกล่าวจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมมาเพื่อประกอบการพิจารณา แต่ก็ไม่ได้รับหลักฐานและข้อมูลที่เพียงพอที่จะให้เชื่อได้ว่าสัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามมาตรา 92 ได้กำหนดให้เป็น หน้าที่ของผู้ขออนุญาตนำเข้าต้องแสดงให้เห็นว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ขออนุญาตนำเข้านั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย

       ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถพิจารณาอนุญาตนำเข้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากต่อมาบริษัทฯ มีเอกสารและข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมครบถ้วน บริษัทฯ ก็สามารถนำเอกสารและข้อมูลดังกล่าวมายื่นขออนุญาตนำเข้าในครั้งต่อไปได้ และการดำเนินการเช่นนี้มิได้มีเฉพาะสัตว์น้ำที่มาจาก ประเทศโซมาเลีย ในรอบเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา กรมประมงได้มีการไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าสัตว์น้ำทางตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 15 ตู้ โดยเป็น ทูน่า ที่มาจากเรือประมงสัญชาติ Senegal ที่ทำการประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ปลาทูน่าในมหาสมุทรแอตแลนติก (International Commission for the Conservation of Atlantic Tunas : ICCAT) ซึ่งมีต้นทางจาก Trinidad and Tobago และอีก 1 ตู้ เป็นสัตว์น้ำที่ทำการประมงในน่านน้ำประเทศ Kiribati

      หลังจากการตรวจสอบหลักฐานพบข้อสงสัย กล่าวคือช่วงเวลาทำการประมงที่มีการระบุไว้ในเอกสารที่ยื่นหลักฐานประกอบการนำเข้ามา แต่เมื่อตรวจสอบจากหลักฐานในระบบ AIS พบว่าเรือประมงลำดังกล่าวจอดเทียบอยู่ที่ท่า ซึ่งเมื่อมีการเรียกเอกสารเพิ่มเติมผู้นำเข้าก็ตัดสินใจขอถอนสินค้าชุดนี้และนำกลับประเทศต้นทาง

      อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า ความรับผิดขอบในการจ่ายค่าจ้างแรงงานนั้นเป็นความรับผิดขอบของนายจ้าง และการที่กรมประมงอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำนั้นเป็นสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐตลาด ทั้ง 2 เรื่องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบพิสูจน์ยืนยันถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำประกอบการพิจารณาอนุญาต เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์น้ำดังกล่าวมาจากการทำการประมงที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง รัดกุม รอบคอบ และโปร่งใส เนื่องจากหากมีการปล่อยให้มีการนำสัตว์น้ำที่มาจากการทำการประมงที่มิชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร จะก่อให้เกิดผลเสียความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อันจะมีผลกระทบต่อการนำเข้า – ส่งออกสินค้าประมงของประเทศอันอาจแก้ไขกลับคืนได้ยากในภายหลังได้