ปศุสัตว์ เขต 4 นำคณะปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เข้าเยี่ยมชมมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ของโรงงานผลิตอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จ.ขอนแก่น ยกเป็นตัวอย่างผู้ประกอบการที่ร่วมสกัด ASF อย่างต่อเนื่อง
นายสัตวแพทย์ศีลธรรม วราอัศวปติ ปศุสัตว์ เขต 4 เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์กำหนดมาตรการป้องกันโรค ASF ไม่ให้มีการระบาดเข้าสู่ประเทศไทยตามมติของคณะรัฐมนตรี พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคดังกล่าว ทั้งระดับกรมและระดับจังหวัด ควบคู่กับการส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มสุกรทุกฟาร์มอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำแนะนำและปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี ขณะเดียวกันได้ออกตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการระดับต้นน้ำ ดังเช่นที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกซีพีเอฟ จังหวัดขอนแก่น พบว่าซีพีเอฟได้ออก 9 มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF อย่างใกล้ชิดในทุกด้านสำหรับโรงงานอาหารสัตว์ให้ครอบคลุมการจัดการตลอดกระบวนการตั้งแต่แรกรับวัตถุดิบไป จนถึงส่งมอบอาหารสัตว์คุณภาพแก่เกษตรกรและลูกค้าอาหารสัตว์ เพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางเดียวกับนโยบายของกรมปศุสัตว์
“การเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารสัตว์ซึ่งถือเป็นต้นทางของการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบการมีกระบวนการและมาตรการเฝ้าระวังโรค ASF ที่เข้มงวด ในการป้องกันไม่ให้โรคนี้ติดไปกับอาหารสัตว์ที่จะส่งถึงฟาร์มของบริษัท เกษตรกรผู้เลี้ยง และลูกค้าอาหารสัตว์ จากการตรวจเยี่ยมพบว่าซีพีเอฟให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานของกรมปศุสัตว์และมาตรฐานสากล ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ประกอบการที่ร่วมป้องกันและสกัดกั้นโรคนี้มาอย่างต่อเนื่อง” นายสัตวแพทย์ศีลธรรม กล่าว
ด้าน นายเรวัติ หทัยสัตยพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงผลกระทบของโรคระบาด ASF ที่จะมีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ตลอดจนผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ธุรกิจอาหารสัตว์บกซีพีเอฟทั้ง 12 แห่ง ซึ่งถือเป็นต้นทางของห่วงโซ่การผลิต จึงเข้มงวดกับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF ด้วยระบบ Biosecurity ตั้งแต่หน้าโรงงานและในทุกส่วนการผลิต มุ่งเน้น 9 มาตรการอย่างเคร่งครัด เริ่มจาก วัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ต้องรับจากแหล่งที่ปลอดภัย รถขนส่งวัตถุดิบและบุคลากร ต้องผ่านระบบฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงงาน จุดรับส่งวัตถุดิบ คนขับรถต้องไม่สัมผัสวัตถุดิบ
โดยพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบต้องแยกจากส่วนผลิตและส่วนคลังสินค้า พื้นที่ผลิตและโกดังสินค้า มีระบบควบคุมความสะอาด แยกพื้นที่จากจุดอื่นๆให้ชัดเจน จุดส่งมอบสินค้าแยกพื้นที่คลังสินค้าจากพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบ มีโปรแกรมทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อทุกสัปดาห์ รถขนส่งอาหารสัตว์ มีระบบฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงงาน พนักงานและบุคคลภายนอก รถทุกคันผ่านบ่อจุ่มล้อเพื่อฆ่าเชื้อ บุคลากรต้องจุ่มเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและสเปรย์มือด้วยแอลกอฮอล์ การจัดการสัตว์พาหะและป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์พาหะและ การตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่อง
“ซีพีเอฟให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเฝ้าระวังและป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของโรคดังกล่าว โดยผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็ง ทั้งกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคเอกชน เกษตกรผู้เลี้ยงสุกรในโครงการคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง และผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย โดยได้จัดสัมมนา “เกาะติดสถานการณ์ ASF” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ถูกต้อง รวมถึงให้ความรู้ด้านมาตรการเฝ้าระวังและการป้องกันโรคทั้งในประเทศไทยและระดับสากล เพื่อให้ทุกคนร่วมกันป้องกันโรคนี้ไม่ให้เข้ามากระทบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย” นายเรวัติ กล่าว